แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายนั้นประเด็นสำคัญแห่งคดีมีอยู่ว่า จำเลยซึ่งถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งมีกำหนดจำนวนหนี้สินแน่นอนเกินกว่าห้าหมื่นบาทหรือไม่ คดีนี้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่าจำเลยมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องยังไม่มีเหตุสมควรให้จำเลยล้มละลายและพิพากษายกฟ้องดังนี้เมื่อจำเลยนำสืบฟังได้ว่า จำเลยมีทรัพย์สินรวมกันมีมูลค่าสูงกว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้อง ปัญหาว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจริงหรือไม่ จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องชี้ขาดในชั้นนี้ ดังนั้นการที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ดังที่จำเลยฎีกามานั้น ก็หาทำให้ผลแห่งคำพิพากษาคดีนี้เปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใดไม่ ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสี่เด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสี่ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลายไม่ได้ เพราะสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์กับจำเลยทั้งสี่ตกลงและศาลได้พิพากษาตามยอมไปแล้วนั้น ไม่มีข้อตกลงกันว่าหากโจทก์ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ยังจะต้องรับผิดอยู่อีก ดังนั้นเมื่อโจทก์ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสี่ที่ได้จำนองไว้กับโจทก์ออกขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นี้อีก และจำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นล้นตัว
เมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นหนี้โจทก์มีกำหนดแน่นอนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นบาทจริง จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีทรัพย์สินรวมกันมีมูลค่าสูงกว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้อง และหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยที่ 1เป็นหนี้ร่วม โจทก์สามารถบังคับจากจำเลยคนใดก็ได้ จึงยังไม่มีเหตุสมควรให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย พิพากษายกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่าเดิมโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้จำเลยหนี้และบังคับจำนองต่อศาลชั้นต้นคดีตกลงกันได้โดยศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 7,197,918.86 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาความยอมของศาลชั้นต้นเอกสารหมาย จ.3 แต่จำเลยทั้งสี่ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์จึงบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงิน 4,000,000 บาท หักค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีแล้ว คงเหลือเงินชำระหนี้ 3,800,000 บาทเมื่อนำเงินจำนวนนี้หักออกจากหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว ยังมีหนี้ขาดอยู่จำนวน 5,665,279.81 บาท โจทก์นำเอาจำนวนหนี้ดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 7,974,685.28 บาทมาฟ้องเป็นคดีนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีทรัพย์สินรวมกันมีมูลค่าสูงกว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้อง ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีหนี้จำนวนตามที่โจทก์ฟ้อง เพราะหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์อ้างมาในฟ้องนั้นระบุแต่เพียงว่า หากจำเลยผิดนัดยอมให้โจทก์ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเท่านั้น ไม่มีข้อความระบุว่า หากขายทรัพย์ที่จำนองแล้วไม่พอชำระหนี้ จำเลยยังต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ที่ขาดอยู่เช่นนี้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ตามฟ้อง เห็นว่า ประเด็นสำคัญแห่งคดีนี้มีอยู่ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งถูกฟ้องขอให้ล้มละลายเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวซึ่งมีกำหนดจำนวนหนี้สินแน่นอนเกินกว่าห้าหมื่นบาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้อ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหนี้โจทก์เป็นจำนวน 7,974,685.28 บาทแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3มีทรัพย์สินรวมกันมีมูลค่าสูงกว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้อง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหนี้โจทก์จริงหรือไม่ จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องชี้ขาดในชั้นนี้ การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ ดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกามานั้น ก็หาทำให้ผลแห่งคำพิพากษาคดีนี้เปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใดไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3