แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญารับประกันภัยรถยนต์ระบุการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกว่า การคุ้มครองผู้ขับขี่ บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ฯลฯ หมายความว่าจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้รับประกันภัยจะเป็นผู้ใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้ขับขี่เสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ขับขี่เอง เมื่อ ป.ขับขี่รถคันเกิดเหตุโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยจำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แม้จำเลยที่ 1 จะได้เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุและได้ให้ป.ขับก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมรถคันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่รถคันดังกล่าวนั้น การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถคันดังกล่าว ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้เป็นเพียงเจ้าของหรือผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเมื่อมีผู้ขับรถไปเกิดเหตุเว้นแต่ผู้ขับจะเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของเจ้าของหรือผู้เช่าซื้อเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม นายเปรมศักดิ์ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4 ก-0653 กรุงเทพมหานคร รถพุ่งเข้าชนรถยนต์บรรทุกของโจทก์คันหมายเลขทะเบียน 2 น-6603 กรุงเทพมหานครซึ่งนายสุนทร สุวรรณเสน ลูกจ้างของโจทก์ขับสวนทางมาในช่องทางเดินรถโจทก์ ค่าเสียหายทั้งสิ้น 162,870 บาท และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,215.25 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย175,085.25 บาท นายเปรมศักดิ์ในฐานะผู้ทำละเมิดจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เมื่อนายเปรมศักดิ์ถึงแก่ความตายไปแล้ว จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกของนายเปรมศักดิ์จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4 ก-0653 กรุงเทพมหานครและจำเลยที่ 5 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว จึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหาย 175,085.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีต้นเงิน 162,870 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ให้การว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นภริยาของนายเปรมศักดิ์และมิได้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 4 ก-0653 กรุงเทพมหานคร นายเปรมศักดิ์เป็นผู้ครอบครองรถคันดังกล่าว จำเลยที่ 2 ถึงจำเลยที่ 4 มิได้เป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับมรดกของนายเปรมศักดิ์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างของโจทก์แต่ฝ่ายเดียวความเสียหายของโจทก์สูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ต่อโจทก์ เหตุที่รถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทของนายสุนทรคนขับรถของโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเปรมศักดิ์ สุขจิตภิญโญ ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน174,512 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 162,430 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะ จำเลยที่ 1 และที่ 5
โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 5 ใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 174,512 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 162,430 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า เหตุที่เกิดชนกันเป็นเพราะความประมาทของนายสุนทร สุวรรณเสน คนขับรถของโจทก์หาใช่เกิดจากความประมาทของนายเปรมศักดิ์ สุขจิตภิญโญคนขับรถคันที่จำเลยที่ 5 รับประกันภัยไว้ไม่ นั้น ปรากฏว่าโจทก์มีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์ คือ นายสุนทร สุวรรณเสนคนขับรถของโจทก์ นายจำนง หงษ์โภคาพันธ์ ซึ่งนั่งมาในรถคันของโจทก์มาเบิกความได้ความตรงกันว่า ขณะรถโจทก์แล่นมาถึงที่เกิดเหตุปรากฏว่ารถคันที่นายเปรมศักดิ์ขับแล่นสวนทางมาแฉลบไปทางซ้ายแล้วแฉลบมาทางขวา ล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเข้ามาในเส้นทางของรถโจทก์ แล้วพึ่งเข้าชนรถโจทก์ในช่องทางเดินรถของโจทก์ร้อยตำรวจโททองคำ มุ่งแก้ว พนักงานสอบสวนผู้สอบสวนคดีรถชนกันครั้งนี้ ซึ่งเป็นผู้มาตรวจสถานที่เกิดเหตุ ก็เบิกความยืนยันว่าจุดชนอยู่ในช่องทางเดินรถของโจทก์ดังปรากฏตามแผนที่เกิดเหตุในรายงานการสอบสวนเอกสารหมาย ป.จ.1 ฝ่ายจำเลยที่ 5คงมีแต่ตัวนายสุธรรม บุญเตี้ย พนักงานฝ่ายตรวจสอบอุบัติเหตุของจำเลยที่ 5 มาเบิกความว่าคนขับรถของโจทก์เป็นฝ่ายประมาทแต่พยานของจำเลยที่ 5 ก็ไม่ได้เห็นเหตุการณ์เองได้ไปดูที่เกิดเหตุหลังจากเกิดเหตุหลายวัน พยานหลักฐานของจำเลยที่ 5จึงไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ซึ่งมั่นคงกว่าได้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เหตุที่เกิดชนกันเป็นความประมาทของนายเปรมศักดิ์คนขับรถคันที่จำเลยที 5 รับประกันภัยไว้เป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียว
ที่จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็ได้ความว่าจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายเปรมศักดิ์ การที่นายเปรมศักดิ์เป็นผู้ขับรถคันเกิดเหตุจึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ยินยอมให้นายเปรมศักดิ์ซึ่งเป็นสามีขับรถคันเกิดเหตุ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5, จ.6หรือ ล.3 ซึ่งเป็นกรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกัน ที่จำเลยที่ 5ออกให้แก่จำเลยที่ 1 ในการรับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ 1 ในสัญญาหมวดที่ 2 การคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกข้อ 2.8 ระบุว่า การคุ้มครองผู้ขับขี่ บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับรถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ฯลฯ ซึ่งหมายความว่า จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้รับประกันภัยจะเป็นผู้ใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้ขับขี่เสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ขับขี่เอง เมื่อนายเปรมศักดิ์ขับขี่รถคันเกิดเหตุโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยา จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามนัยแห่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว
ที่จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า ค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ไม่เกิน42,000 บาทนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายประจวบ สุวรรณกีฏะ เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ชื่ออู่ยนต์สุวรรณผู้ซ่อมรถคันเกิดเหตุของโจทก์ว่าได้รับซ่อมรถโจทก์ในราคา157,000 บาท รายละเอียดปรากฏตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย ป.จ.2ตามสัญญาว่าจ้างซ่อมเอกสารหมาย ป.จ.3 และบิลเงินสดเอกสารหมายป.จ.4 น่าเชื่อว่ารถของโจทก์ได้ซ่อมและโจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมไปเป็นเงิน 157,000 บาทจริง ที่จำเลยที่ 5 นำสืบว่ารถของโจทก์เสียหายตามภาพถ่ายหมาย ล.4 และค่าเสียหายของรถโจทก์ได้ให้ช่างซ่อมตีราคาไว้ ค่าซ่อมไม่เกิน 42,000 บาท แต่จำเลยที่ 5ก็ไม่ได้นำช่างผู้ตีราคามาเบิกความแต่อย่างใด ลำพังภายถ่ายหมายล.4 ไม่อาจประเมินค่าซ่อมได้ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใดแน่ พยานจำเลยที่ 5 จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือพยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่า ฟังว่าโจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมรถของโจทก์ที่เสียหายไปจำนวน 157,000 บาทจริง เมื่อรวมกับค่าซ่อมเครื่องมือเครื่องอุปกรณ์การเจาะสำรวจของโจทก์จำนวน 5,430 บาท ซึ่งคู่ความไม่ได้ฎีกา จึงเป็นค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสิ้น 162,430 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถคันที่เกิดเหตุที่นายเปรมศักดิ์ขับมาจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อินเตอร์เครดิตแอนด์ทรัสต์ จำกัด มีเจตนาเป็นเจ้าของรถคันดังกล่าว ทั้งเป็นผู้ครอบครองรถคันดังกล่าวด้วย จึงต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่าแม้รถคันดังกล่าวจำเลยที่1 จะได้เช่าซื้อมาและได้ให้นายเปรมศักดิ์ขับก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองหรือควบคุมรถคันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่รถคันดังกล่าวนั้นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 การที่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถคันดังกล่าวไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้เป็นเพียงเจ้าของหรือผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเมื่อมีผู้ขับรถไปเกิดเหตุ เว้นแต่ผู้ขับจะเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของเจ้าของหรือผู้เช่าซื้อเท่านั้นจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากความประมาทของนายเปรมศักดิ์
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่นายเปรมศักดิ์ผู้ตายได้รับรองแล้ว จึงมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายและเป็นทายาทของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นมารดาของผู้ตายจึงเป็นทายาทของผู้ตาย จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้น เห็นว่า โจทก์มีนางสาววัฒนา เพชรไพบูลย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของโจทก์มาเบิกความว่า ได้สอบถามจากเขตบางกอกน้อยได้ความว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นบุตรผู้ตายจำเลยที่ 4 เป็นมารดาผู้ตายจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ไม่มีพยานมาสืบหักล้างคำเบิกความของนางสาววัฒนาดังกล่าวจึงรับฟังเป็นความจริงได้ตามคำเบิกความของนางสาววัฒนานั้น แต่ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายได้รับรองแล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นมารดาของผู้ตายจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทโดยธรรมผู้รับมรดกของผู้ตายฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นางจู แซ่เตีย จำเลยที่ 4 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเปรมศักดิ์ สุขจิตภิญโญ ผู้ตาย ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 5 ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ด้วย