แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เงินกู้ของเจ้ามรดกที่ได้กู้เงินไปจากโจทก์ โดยจำเลยตกลงว่าหากจำเลยได้รับมรดกมาเป็นจำนวนเท่าใด จำเลยจะชำระหนี้ดังกล่าวทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์จนครบ ถ้าทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับมาไม่พอแก่การชำระหนี้ จำเลยจะยกทรัพย์มรดกที่รับมาทั้งหมดให้โจทก์การที่จำเลยไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ก็ดี หรือจำเลยไม่โอนทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ ล้วนแต่เป็นการผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เท่านั้น โจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้หรือเรียกเอา ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้นได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213,215,222 หรือมาตรา 224 แล้วแต่กรณี การกระทำของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2536 นางตั้ง ทัดเศษเจ้ามรดกได้ทำหนังสือสัญญากู้เงินโจทก์ 100,000 บาท ต่อมาวันที่ 12เมษายน 2537 นางตั้งถึงแก่กรรม จำเลยเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางตั้งโดยได้รับโอนมรดกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 649 เนื้อที่ 3 งาน 41 ตารางวา หลังจากนั้นวันที่ 7สิงหาคม 2537 จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยจะชำระหนี้แก่โจทก์จนครบทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ถ้าได้รับมรดกมาไม่พอชำระหนี้ จำเลยจะยกให้โจทก์ทั้งหมด ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ยอมชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งได้ทำการโอนทรัพย์มรดกไปยังบุคคลอื่น โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,000 บาท ที่นางตั้งเป็นหนี้โจทก์ และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะทายาทของนางตั้งชำระหนี้จำนวน116,907 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 100,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คดีอยู่ระหว่างการบังคับคดีการที่จำเลยผิดสัญญาไม่ยอมชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ทั้งโอนทรัพย์สินไปยังบุคคลอื่นจนโจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นเงินทั้งสิ้น 163,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 163,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ คดีได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางตั้ง ทัดเศษ เจ้ามรดก ต่อมาจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เงินกู้ของนางตั้งที่ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 100,000 บาท โดยจำเลยตกลงว่าหากจำเลยได้รับมรดกของนางตั้งมาเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม จำเลยจะชำระหนี้ดังกล่าวทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์จนครบ ถ้าทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับมาไม่พอแก่การชำระหนี้ จำเลยจะยกทรัพย์มรดกที่รับมาทั้งหมดให้โจทก์ ซึ่งหลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระหนี้ ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกไปยังบุคคลอื่น โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นให้ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ และศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 116,907 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงิน 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดังนั้น การที่จำเลยประพฤติผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกไปยังบุคคลอื่นถือเป็นการละเมิดเป็นเหตุให้โจทก์ต้องฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นดังกล่าว อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำคดีไปฟ้องศาลเป็นเงิน 163,000 บาท เห็นว่า การที่จำเลยไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ก็ดี หรือจำเลยไม่โอนทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์อันจะเป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ดีล้วนแต่เป็นการผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้ที่จำเลยทำไว้ต่อโจทก์เท่านั้น ฉะนั้นโจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้หรือเรียกเอาค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213, 215, 222 หรือมาตรา 224 แล้วแต่กรณีการกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงมิใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ส่วนค่าเสียหายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดีฐานผิดสัญญาของโจทก์ดังกล่าวนั้น ก็มิใช่ผลโดยตรงอันเกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกได้”
พิพากษายืน