คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3758/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การเรียกร้องเอาทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 เป็นกรณีที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินกันจนเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ หมายความว่า ที่ดินแปลงเดิมก่อนแบ่งแยกมีทางออกไปสู่ทางสาธารณะและการแบ่งแยกเป็นเหตุให้แปลงที่แบ่งแยกแปลงใดแปลงหนึ่งออกไปสู่ทางสาธารณะไม่ได้ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นได้เฉพาะที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน
เมื่อที่ดินตกอยู่ที่ล้อม โจทก์ย่อมได้รับการคุ้มครองถึงการใช้ยานพาหนะผ่านทางในสภาพที่เป็นถนนได้ มิได้จำกัดเฉพาะให้ใช้ทางเดินได้ด้วยเท้าแต่อย่างเดียวและตามสภาพการณ์ความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบันรถยนต์เป็นพาหนะที่จำเป็นและที่พิพาทอยู่ห่างถนนประมาณ200 เมตร เป็นพื้นที่มีความเจริญมีอาคารสูงหลายอาคารและห่างจากย่านการค้าเพียง 500 เมตร หากจะมีการพัฒนาที่ดินเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดและเป็นการพัฒนาบ้านเมืองไปสู่ความเจริญแล้ว สมควรที่จะเปิดทางเพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้
โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 และเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ของโจทก์ที่ถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมและไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ เป็นคำฟ้องให้ศาลเลือกวินิจฉัยเอาจากพยานหลักฐาน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่
โจทก์เป็นผู้มีสิทธิจะผ่านที่ดินของจำเลยตามมาตรา 1349 วรรคหนึ่งต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ซึ่งค่าทดแทนไม่ใช่ค่าซื้อที่ดิน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินของโจทก์และจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันซึ่งขณะนั้นนางนวน เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาถูกทางราชการเวนคืนไปสร้างถนนพหลโยธินบางส่วน นางนวนแบ่งแยกที่ดินที่เหลือออกเป็น 5 แปลง และได้ขายให้แก่ผู้ซื้อโดยนางสอิ้งเป็นผู้ซื้อแปลงที่สองคือที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 และที่ดินแปลงที่ห้าคือที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 นางนวนและผู้ซื้อตกลงกันให้ผู้ซื้อที่ดินทั้งสี่แปลงถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันโดยใช้เป็นทางเดิน ทางรถยนต์และสาธารณูปโภคอื่นเพื่อประโยชน์ร่วมกันเข้าออกสู่ถนนพหลโยธิน นางสอิ้งขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินและใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 เป็นทางเดิน ทางรถยนต์เข้าออกสู่ถนนพหลโยธินเรื่อยมาโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ต่อมามีการแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 ออกเป็นแปลงย่อยขนาดกว้างเท่ากับหน้าที่ดินแต่ละแปลงทั้งสี่แปลงเพื่อใช้เป็นทางเข้าออกสู่ซอยเสนาร่วม แต่ขณะเดียวกันถนนเดิมก็ยังสามารถเข้าออกได้ตามปกติที่ดินแปลงที่อยู่หน้าที่ดินโจทก์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 มีนางสอิ้งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และปลูกเรือนไม้บนที่ดิน โดยเว้นที่ดินแปลงดังกล่าวไว้บางส่วนยาวประมาณ 10 เมตร ไว้สำหรับที่ดินของโจทก์เพื่อเป็นทางเข้าออกนางสอิ้งขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 ให้แก่จำเลย โจทก์ก็ยังคงใช้เป็นทางเข้าออกได้ตามปกติโดยจำเลยไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน จนเมื่อประมาณต้นปี 2536 จำเลยทำรั้วปูนและก่อสร้างโกดังปิดกั้นทางเข้าออกที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ถูกปิดล้อมไม่สามารถเข้าออกทางอื่นได้นอกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 ซึ่งโจทก์ได้ใช้เป็นทางเดินทางรถยนต์ โดยความสงบและโดยเปิดเผยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปีโจทก์จึงได้ภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 นอกจากนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ของโจทก์เพราะถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมไม่มีทางอื่นเข้าออกได้นอกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วปูนและสิ่งก่อสร้างในที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 หากจำเลยไม่รื้อถอนให้โจทก์เป็นผู้รื้อถอนโดยจำเลยเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยไปจดทะเบียนภารจำยอมและทางจำเป็นสำหรับทางเดิน ทางรถยนต์และสาธารณูปโภคอื่น ๆ ในที่ดินโฉนดเลขที่ 8822ทั้งแปลงแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ของโจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 250,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ภายหลังแบ่งแยกที่ดินแล้ว ที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ของโจทก์ยังคงมีทางออกสู่ถนนสาธารณะโดยผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 ซึ่งเจ้าของที่ดินทั้งสี่แปลงถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นโดยไม่เสียค่าทดแทน นางสอิ้งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดเลขที่ 8822 และโฉนดเลขที่ 7178 ด้วย ต่อมานางสอิ้งขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ให้แก่โจทก์ โจทก์ขออาศัยที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะขนาดกว้าง 1 เมตร นับจากแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันตกมิใช่ทางรถยนต์กว้าง 10 เมตร ตามที่โจทก์อ้าง โจทก์จึงไม่ได้ภารจำยอมโดยอายุความ จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 จากนางสอิ้ง โจทก์ยังคงใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะด้วยความยินยอมของจำเลยโจทก์จะต้องเสียค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349ทางดังกล่าวมีขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 6 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ 1.5 ตารางวาราคาที่ดินตารางวาละไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท เป็นเงิน 150,000 บาทกับค่าทดแทนรายปีเพื่อบำรุงรักษาทางเดินและค่าเสื่อมราคาของที่ดินอีกปีละ50,000 บาท โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นครั้งเป็นคราวไม่มีการก่อสร้างอาคารใด ๆโจทก์จึงไม่เสียหายขาดประโยชน์เดือนละ 250,000 บาท ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เนื่องจากโจทก์บรรยายคำฟ้องว่าที่ดินของจำเลยเป็นทั้งทางจำเป็นและเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ในขณะเดียวกัน ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนที่ดินเป็นเงิน 150,000 บาท แก่จำเลยหรือตารางวาละ100,000 บาท คิดตามเนื้อที่ที่โจทก์ใช้เข้าออก กับให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนเป็นรายปีอีกปีละ 50,000 บาท หรือตารางวาละ 50,000 บาท คิดตามเนื้อที่ที่โจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกทุกสิ้นปีนับแต่วันที่โจทก์ฟ้องและตลอดเวลาที่โจทก์ยังใช้ที่ดินของจำเลยอยู่

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นางสอิ้งและคนที่อยู่อาศัยในที่ดินใช้รถยนต์เป็นพาหนะผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 โจทก์เป็นผู้ซื้อและเข้าครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของนางสอิ้งจากการขายทอดตลาด โจทก์ก็ใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 เป็นทางรถยนต์เข้าออกโดยปกติ ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน เมื่อมีการถมคลองศุภราชทำถนนซอยพหลโยธิน 11 นางสอิ้งได้ปลูกตึกแถว 2 หลัง ในที่ดินโฉนดเลขที่ 8822และเว้นที่ดินมีขนาดกว้าง 10 เมตร เพื่อเป็นทางเข้าออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 โจทก์นำรถยนต์เข้าออกผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 ออกสู่ถนนเสนาร่วมโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากนางสอิ้ง เมื่อจำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 จากนางสอิ้ง โจทก์ก็ใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากจำเลย และเป็นการใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 เป็นทางจำเป็นตั้งแต่เริ่มแรกตลอดจนปัจจุบันได้ใช้มาเกิน10 ปี แล้ว จึงได้ภารจำยอมโดยอายุความโดยไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยเปิดทางผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 8822ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานครของจำเลยเป็นทางกว้าง 3 เมตร จากแนวเขตที่ดินของจำเลยทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก (ตามแนวถนนซอยพหลโยธิน 11 หรือซอยเสนาร่วม)เพื่อใช้เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้)อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ โดยให้โจทก์มีสิทธิใช้ทางจำเป็นดังกล่าวเพียงเพื่อความจำเป็นในการเข้าออกตามปกติระหว่างที่ดินของโจทก์กับทางสาธารณะ (ถนนซอยพหลโยธิน 11 หรือซอยเสนาร่วม)ให้จำเลยรื้อรั้วปูนและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่อยู่บนทางจำเป็นดังกล่าวด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลย คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเปิดทางผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ของจำเลยเป็นทางกว้าง 4 เมตร จากแนวเขตที่ดินของจำเลยทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกเพื่อให้เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร ของโจทก์เพื่อออกสู่ซอยถนนพหลโยธิน 11 ให้โจทก์ชำระค่าทดแทนแก่จำเลย 150,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 508เลขที่ดิน 2 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร มีนางนวน เอี่ยมดวง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาทางราชการได้เวนคืนที่ดินด้านทิศตะวันออกเพื่อตัดถนนพหลโยธิน นางนวนได้แบ่งแยกที่ดินให้แก่ทางราชการไปแล้ว ปี 2482 นางนวนได้แบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็น 5 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 7177ถึง 7181 และขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7177 ให้แก่นางเนิน ภักดีชุมพล ที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ขายให้แก่นางสอิ้ง ชวนะลิขิกร ที่ดินโฉนดเลขที่ 7179ขายให้แก่นางบุนนาค สุวณิชย์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 7180 ขายให้แก่นางไกรนารายณ์ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 ให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสี่แปลงถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ปัจจุบันโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 7178โดยซื้อเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2509 จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของนางสอิ้งจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร โดยแบ่งแยกมาในปี 2492 จากที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 ที่นางสอิ้ง เป็นเจ้าของรวมอยู่เดิมและนางสอิ้งขายให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2536 ที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะนอกจากต้องผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 ออกสู่ถนนพหลโยธิน 11 (ซอยเสนาร่วม) ซึ่งเดิมเป็นคลองศุภราช

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิใช้ที่ดินจำเลยเป็นทางผ่านเข้าออกสู่ถนนพหลโยธิน 11 (ซอยเสนาร่วม) อันเป็นทางสาธารณะ โดยเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 หรือไม่ เห็นว่า การเรียกร้องเอาทางจำเป็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 นั้น เป็นกรณีที่มีการแบ่งแยกหรือแบ่งโอนที่ดินกันจนเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ ซึ่งหมายความว่า ที่ดินแปลงเดิมก่อนแบ่งแยกมีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ และการแบ่งแยกเป็นเหตุให้แปลงที่แบ่งแยกแปลงใดแปลงหนึ่งออกไปสู่ทางสาธารณะไม่ได้ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงจะมีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นได้เฉพาะที่ดินแปลงที่แบ่งแยกหรือแบ่งโอนกันโดยไม่ต้องเสียค่าทดแทน ซึ่งในคดีนี้ตามทางนำสืบของโจทก์ปรากฏว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 508 มีนางนวนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต่อมาได้แบ่งแยกเพื่อตัดถนนพหลโยธิน โดยนางนวนได้แบ่งแยกที่ดินให้แก่ทางราชการไปแล้วที่ดินดังกล่าวจึงมีทางออกสู่ถนนพหลโยธินซึ่งเป็นทางสาธารณะ เมื่อวันที่ 6พฤษภาคม 2482 นางนวนได้แบ่งขายที่ดินแปลงดังกล่าวเป็น 5 แปลงคือโฉนดเลขที่ 7177 ถึง 7181 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ได้ขายให้แก่นางสอิ้ง ต่อมาตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 ให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสี่แปลงที่แบ่งแยกถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ดังนั้น การแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 508 ดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดทางจำเป็นในการที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสี่แปลงที่แบ่งแยกเพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 ได้จดทะเบียนให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่แบ่งแยกมีสิทธิใช้เป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธินอยู่แล้ว หลังจากนั้นได้มีการถมคลองศุภราชโดยสร้างเป็นถนนพหลโยธิน 11(ซอยเสนาร่วม) เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามโฉนดเลขที่ 7180 ซึ่งถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 ได้ยื่นคำร้องขอรวมโฉนดโดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 7180 รวมเข้ากับโฉนดเลขที่ 7181 เฉพาะที่ดินส่วนที่อยู่ด้านหน้าที่ดินทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7180 มีเขตที่ดินติดถนนพหลโยธิน 11 ส่วนเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมรายอื่นรวมทั้งนางสอิ้งได้ขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7181เฉพาะที่ดินส่วนที่อยู่ด้านหน้าที่ดินของตน โดยใส่ชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นางสอิ้งจึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 ที่แบ่งแยกออกมาใหม่ต่อมานางสอิ้งได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 ให้แก่จำเลย เมื่อที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 ของจำเลยเป็นที่ดินที่แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7181แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7181 จะเคยเป็นที่แปลงเดียวกับที่ดินโจทก์มาก่อนก็ตามจะถือโดยอนุโลมว่าที่ดินโจทก์แบ่งแยกมาจากที่ดินจำเลยหาได้ไม่ซึ่งการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 7178 ตกอยู่ในที่ล้อมของที่ดินแปลงอื่น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกล้อมอยู่จึงมีสิทธิผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 ของจำเลยไปสู่ถนนพหลโยธิน 11 (ซอยเสนาร่วม)อันเป็นทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349วรรคหนึ่ง กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า ทางจำเป็นมีขนาดกว้างเท่าใด ซึ่งจำเลยได้ฎีกาในประเด็นนี้มาด้วย จึงสมควรวินิจฉัยไปในคราวเดียวกันเห็นว่า สภาพแห่งทางจำเป็นนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้” ซึ่งหมายความว่า เมื่อที่ดินตกอยู่ในที่ล้อมโจทก์ย่อมได้รับการคุ้มครองถึงการใช้ยานพาหนะผ่านทางในสภาพที่เป็นถนนได้ มิได้จำกัดเฉพาะให้ใช้ทางเดินได้ด้วยเท้าแต่อย่างเดียว และตามสภาพการณ์ความเจริญของบ้านเมืองในปัจจุบันรถยนต์เป็นพาหนะที่จำเป็น และที่พิพาทอยู่ห่างถนนพหลโยธินประมาณ 200 เมตร เป็นพื้นที่มีความเจริญ มีอาคารสูงหลายอาคารและห่างจากสะพานควายเพียง 500 เมตร หากจะมีการพัฒนาที่ดินเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดและเป็นการพัฒนาบ้านเมืองไปสู่ความเจริญแล้วสมควรที่จะเปิดทางเพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ เมื่อพิจารณาสภาพบ้านที่โจทก์ซื้อมา จะเห็นได้ว่ามีประตูไม้ระแนงทำเป็นทางเข้าออก โดยนายสุธรรมหล่อวาเหล็ก พยานโจทก์เบิกความว่ากว้างประมาณ 6 เมตร ต่อมาโจทก์ได้ทำประตูและรั้วขึ้นมาใหม่เป็นสังกะสี มีความกว้างประมาณ 10 เมตรจำเลยได้ติดต่อขอซื้อที่ดินของโจทก์แต่โจทก์ไม่ขาย หลังจากนั้นจำเลยได้ปิดทางเข้าออกดังกล่าวและเปิดทางไว้เพียง 1 เมตร เมื่อพิจารณาจากสภาพที่ดินของจำเลยแล้วจะเห็นว่าเดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่เจ้าของโฉนดเดิมเจตนาแบ่งแยกไว้เพื่อให้เจ้าของที่ดินที่แบ่งแยกออกไปใช้เป็นทางผ่านไปสู่ถนนพหลโยธินอันเป็นทางสาธารณะ ดังนั้นความกว้างของที่ดินจึงมีประมาณ 6 เมตร เท่านั้น และนายประสาท สว่างไสวพยานโจทก์ซึ่งมีตำแหน่งเป็นนายช่างโยธา 5 เบิกความว่าที่ดินของจำเลยจะพัฒนาได้เพียงทำเป็นที่อยู่อาศัยเท่านั้น จะก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ไม่ได้เพราะถนนพหลโยธิน 11 (เสนาร่วม) เป็นถนนกว้างเกิน 6 เมตรการสร้างตึกแถวจะสร้างติดถนนสาธารณะไม่ได้ เมื่อที่ดินที่โจทก์ขอผ่านเป็นทางจำเป็นนั้นเป็นทางที่ใกล้ทางสาธารณะที่สุดและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินจำเลยน้อยที่สุดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องทางจำเป็นและเพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้สมควรกำหนดให้ทางจำเป็นกว้าง 6 เมตร ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ทางจำเป็นกว้าง 4 เมตร ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ฟ้องขอให้เปิดทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 8822 และเป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 7178ของโจทก์ที่ถูกที่ดินแปลงอื่นปิดล้อมและไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้เป็นคำฟ้องที่ให้ศาลเลือกวินิจฉัยเอาจากพยานหลักฐาน เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็นแล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนและใช้ดุลพินิจเลือกวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางจำเป็นตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ข้อใดข้อหนึ่งอันเป็นการตรงตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปอีกว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมหรือไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น สำหรับประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่โจทก์ฎีกาก็ไม่จำต้องวินิจฉัย

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า จำเลยมีสิทธิเรียกค่าทดแทนเป็นจำนวนเท่าใด เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิจะผ่านที่ดินของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่งผู้มีสิทธิจะผ่านจะต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ซึ่งค่าทดแทนดังกล่าวไม่ใช่ค่าซื้อที่ดิน และข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินทางพิพาทดังกล่าวมีการประเมินเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโดยทางราชการกำหนดไว้ตารางวาละ 80,000 บาท เมื่อคำนึงถึงทางพิพาทซึ่งศาลกำหนดให้กว้าง 6 เมตร นั้น เป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธิน 11(ซอยเสนาร่วม) ซึ่งมิใช่เป็นทางหลัก และจำเลยเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนตารางวาละ 100,000 บาท เมื่อคำนึงถึงความเจริญและความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองประกอบความเสียหายที่จำเลยได้รับแล้วสมควรกำหนดค่าทดแทนความเสียหายให้จำเลยเท่ากับร้อยละ 75 ของราคาประเมิน เมื่อราคาประเมินของทางราชการคืออัตราตารางวาละ80,000 บาท ทางจำเป็นกว้าง 6 เมตร ยาว 6 เมตร คำนวณเป็นเนื้อที่ได้9 ตารางวา จึงคิดเป็นจำนวนเงิน 540,000 บาท โดยกำหนดให้ชำระคราวเดียวที่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์ชำระเป็นรายปีด้วยนั้น เห็นว่า ค่าทดแทนที่ศาลฎีกากำหนดให้ดังกล่าวคุ้มความเสียหายของจำเลยแล้ว ไม่สมควรกำหนดให้เป็นรายปีอีก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยเปิดทางให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 8822 เลขที่ดิน 326 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต(บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร กว้าง 6 เมตร จากแนวเขตที่ดินของจำเลยทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก ความยาวจากที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 7178เลขที่ดิน 205 ตำบลสามเสนใน (บางซื่อฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ไปจนถึงถนนพหลโยธิน 11 (ซอยเสนาร่วม) ประมาณ 6 เมตร โดยให้โจทก์ใช้ค่าทดแทนความเสียหายให้จำเลย จำนวน 540,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share