คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3758/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาการรับทุน ก.พ. เพื่อไปศึกษาวิชาในต่างประเทศที่จำเลยทำให้โจทก์ไว้ระบุว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญานอกจากจะต้องรับผิดชดใช้ทุน ก.พ. คืนโจทก์แล้ว ต้องใช้เงินอีกจำนวนหนึ่งเท่าทุนดังกล่าวให้เป็นเบี้ยปรับแก่โจทก์ด้วยดังนี้ เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 ไม่ว่าสัญญาดังกล่าวจะทำกับส่วนราชการหรือไม่ก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาวิชาในต่างประเทศตามความต้องการของ รัฐบาลได้ทำสัญญารับทุนก.พ. ให้ไว้ต่อโจทก์ว่า ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 รับทุน ก.พ.ศึกษาวิชาในต่างประเทศตามสัญญา จำเลยจะตั้งใจและเพียงพยายามอย่างดีที่สุดที่จะศึกษาวิชาตรงตามโครงการศึกษาที่ ก.พ. กำหนดจำเลยจะไม่หลีกเลี่ยงละเลยทอดทิ้ง ยุติหรือเลิกการศึกษาก่อนสำเร็จการศึกษาตามโครงการศึกษานั้น เว้นแต่จะยุติหรือเลิกการศึกษาโดยการเห็นชอบของ ก.พ. เมื่อ ก.พ. กำหนดให้จำเลยเข้ารับราชการในกระทรวงทบวงกรมใด เมื่อใด โดยได้รับเงินเดือนตามที่ ก.พ.กำหนดไว้จำเลยจะเข้ารับราชการตามที่ ก.พ. กำหนดให้ และจะรับราชการอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของระยะเวลาที่จำเลยได้ศึกษาวิชาในต่างประเทศโดยทุน ก.พ. ตามสัญญาที่จำเลยทำไว้นี้ ถ้าจำเลยไม่กลับประเทศไทยภายในเวลาที่ ก.พ. กำหนดก็ดี หรือไม่ยอมเข้ารับราชการในกระทรวงทบวงกรมใดตามที่ ก.พ. กำหนดให้ก็ดี หรือจำเลยไม่ประพฤติหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ในประการหนึ่งประการใด จน ก.พ.สั่งให้จำเลยกลับประเทศไทยก็ดี จำเลยยินยอมรับผิดชดใช้ทุนที่สำนักงาน ก.พ. ได้จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น กับใช้เงินอีกจำนวนหนึ่งเท่ากับจำนวนทุน ก.พ. ดังกล่าวให้เป็นเบี้ยปรับแก่สำนักงาน ก.พ.ด้วยทันที และในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ศึกษาในต่างประเทศโดยทุน ก.พ.นั้น ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2523 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาการรับทุน ก.พ. เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศที่ได้ให้ไว้ต่อโจทก์โดยแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาเดิมจากการศึกษาในต่างประเทศโดยทุน ก.พ. เป็นโดยทุนส่วนตัว และได้ให้สัญญาไว้ต่อโจทก์ว่าในช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ศึกษาในต่างประเทศด้วยทุนส่วนตัวนี้ โจทก์ไม่ต้องจ่ายเงินทุน ก.พ. ให้ แต่ถ้าโจทก์ได้จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ จำเลยที่ 1 ยินยอมให้ถือว่าเงินนั้นเป็นเงินทุน ก.พ. ที่จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์ ในการทำสัญญารับทุน ก.พ.ของจำเลยที่ 1 ทั้งสองฉบับดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ได้เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันลงวันที่ 21 มกราคม 2517 และวันที่1 ตุลาคม 2523 ตามลำดับ โดยสัญญาค้ำประกันมีความว่า ถ้าจำเลยที่ 1กระทำผิดสัญญาที่ให้ไว้ต่อโจทก์ไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยินยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1จนครบถ้วนทุกประการทันที โดยโจทก์มิจำต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1ชำระหนี้ก่อน จำเลยที่ 1 เดินทางไปศึกษาวิชา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2517 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2524 รวมเวลา7 ปี ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำเรื่องขออนุมัติจากโจทก์ขยายเวลาศึกษาต่ออีก 2 ปี แต่โจทก์ไม่อนุมัติ และได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ยุติการศึกษาและเดินทางกลับมาปฏิบัติราชการทันที แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมกลับ และวันที่ 25 มกราคม 2525 จำเลยที่ 1 ขอลาออกจากทุน ก.พ.และจะยอมชดใช้ทุนทั้งหมดตามสัญญาให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาต้องชดใช้ให้แก่โจทก์รวมเป็นเงินไทย 4,050 บาท และเงินดอลล่าร์สหรัฐ จำนวน 93,296.86 ดอลล่าร์ โจทก์ได้รับชำระเงินทุนการศึกษาจากจำเลยที่ 1 จำนวน 4,500 ดอลล่าร์ จึงเหลือเงินทุนการศึกษาและเบี้ยปรับที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์4,050 บาท กับอีก 88,796.86 ดอลล่าร์ คิดอัตราแลกเปลี่ยนขณะฟ้อง1 ดอลล่าร์สหรัฐเท่ากับ 23.05 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1ต้องชดใช้ให้โจทก์จำนวน 2,050,817.62 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 3ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 2,050,817.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามรับว่า ได้ทำสัญญาตามฟ้องจริง จำเลยที่ 1เป็นข้าราชการอาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัญญา คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนั้นขาดแคลนอาจารย์ประจำผู้เชี่ยวชาญในสาขาวชาปรัชญาตะวันตก จำเลยที่ 1 จึงสอบชิงทุนของโจทก์และได้เลือกไปศึกษาวิชานี้ จำเลยที่ 1 สามารถสำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้วยเวลาสั้นที่สุด คือเพียง 2 ปี จึงขออนุมัติโจทก์ศึกษาต่อชั้นปริญญาเอก โจทก์เห็นชอบและได้ให้ทุนจำเลยที่ 1 ศึกษาต่อชั้นปริญญาเอก แต่การศึกษาในสาขาวิชานี้เป็นวิชาที่ยากมาก จำเป็นต้องใช้เวลานาน หลังจากจำเลยที่ 1 ศึกษาชั้นปริญญาเอกได้ 4 ปีก็ใกล้จะสำเร็จและเป็นเวลาครบกำหนดที่ได้ขออนุมัติโจทก์ไว้ จำเลยที่ 1 เกรงว่าโจทก์ไม่ให้ทุนการศึกษาต่อและอาจเรียกตัวกลับมารับราชการกลางคัน ซึ่งจะทำให้โจทก์เองและจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เพราะได้ใช้เงินทุนเป็นจำนวนมากจะเป็นการเสียเปล่า จำเลยที่ 1 จึงขอขยายระยะเวลาศึกษาอีก 1 ปี โดยใช้ทุนส่วนตัว ซึ่งโจทก์เห็นชอบด้วยและได้อนุมัติตามที่จำเลยร้องขอแต่การศึกษาโดยใช้ทุนส่วนตัว จำเลยที่ 1 ไม่อาจศึกษาได้เต็มที่ต้องทำงานควบคู่ไปด้วย จึงไม่อาจสำเร็จการศึกษาภายในเวลา 1 ปีจำเป็นต้องใช้เวลาอีกประมาณปีเศษ และเห็นว่าเคยขออนุมัติโจทก์ขยายระยะเวลาการศึกษาครั้งละไม่เกิน 1 ปี หลายครั้งแล้ว จึงตั้งใจจะขอขยายระยะเวลาการศึกษาในครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย หากไม่สำเร็จจะกลับมารับราชการในสังกัดเดิมและได้ขอขยายระยะเวลาการศึกษาอีกเป็นจำนวน 2 ปี โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เพราะขัดกับระเบียบราชการของโจทก์ ซึ่งปกติจะขอขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 1 ปี ทำให้โจทก์เพ่งเล็งว่าจำเลยที่ 1 ไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและใช้เวลานานเกินสมควร อาจมีเจตนาหลีกเลี่ยงหลบหนีราชการและไม่ปฏิบัติตามสัญญาโจทก์ไม่อนุมัติตามที่จำเลยที่ 1 ร้องขอ และเรียกตัวจำเลยที่ 1กลับมารับราชการทันที จำเลยที่ 1 เห็นว่าใกล้สำเร็จการศึกษาแล้วทั้งจำเลยที่ 1 มีผลการศึกษาดีและอาจารย์ของจำเลยที่ 1 แนะนำว่าหากจำเลยที่ 1 กลับมารับราชการระยะหนึ่งแล้วกลับไปศึกษาต่ออาจขาดสภาพการศึกษาปริญญาเอก ต่อมาประมาณเดือนธันวาคม 2524 จำเลยที่ 1 ได้ปรึกษาเจ้าหน้าที่กองการศึกษาต่างประเทศประจำประเทศสหรัฐอเมริกาผู้แทนโจทก์ ได้รับการแนะนำว่าให้จำเลยที่ 1 ลาออกจากทุนของโจทก์และทำบันทึกว่าจะใช้เงินทุนให้โจทก์ เมื่อศึกษาจบแล้วสามารถกลับรับราชการเพื่อใช้ทุนที่เหลือได้ จำเลยที่ 1 จึงลาออกจากทุนของโจทก์และทำบันทึกว่าจะใช้ทุนคืนเป็นรายปี ๆ ละไม่เกิน100,000 บาท ต่อมาวันที่ 28 กันยายน 2525 จำเลยที่ 1 ใช้ทุนให้โจทก์จำนวน 4,500 เหรียญสหรัฐ ปี พ.ศ. 2526 จำเลยที่ 1 มีปัญหาทางการเงิน ไม่อาจผ่อนชำระทุนคืนให้โจทก์ เดือนมิถุนายน 2527 จำเลยที่ 1ได้รับจดหมายจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ ซึ่งขณะนั้นจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างศึกษาและได้ทำงานประจำเป็นเลขานุการเอกอัครราชฑูตไทยประจำวอชิงตัน ไม่อาจขอลาราชการได้ เมื่อเดือนกันยายน 2527 จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ลาราชการเป็นกรณีพิเศษจึงรีบเดินทางกลับประเทศไทยและติดต่อกับโจทก์รายงานตัวขอกลับเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2527การที่จำเลยที่ 1 รายงานตัวเพื่อขอกลับรับราชการตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว จึงไม่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายถึงต้องปรับจำเลยทั้งสามเป็นเงินถึงหนึ่งเท่าของเงินทุน ขอศาลลดเบี้ยปรับจำนวนนี้ด้วย ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องลงวันที่ 20 ธันวาคม 2527รับว่าได้รับทุนการศึกษาจากโจทก์จำนวน 46,648.43 ดอลล่าร์สหรัฐและเงินไทยจำนวน 2,025 บาท จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์แล้ว4,500 ดอลล่าร์สหรัฐ จึงเหลือทุนที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 42,148.43 ดอลล่าร์สหรัฐ และเงินไทยอีก 2,025 บาท คำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยน 23.05 บาท ต่อ 1 ดอลล่าร์ จำเลยเป็นหนี้ทุนการศึกษาจำนวน973,546.31 บาท จำเลยที่ 1 วางเงินจำนวน 680,000 บาท เพื่อชำระหนี้ทุนการศึกษาบางส่วนให้โจทก์ และยอมให้โจทก์รับเงินจำนวนดังกล่าวไปได้ทันที ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินจำนวน303,546.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2527 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินจำนวน 680,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (20 เมษายน 2527) จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2527 โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าปรับแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท รวมกับเงินที่จะต้องชำระตามสัญญาจำนวน293,546.31 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 343,546.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยต้องรับผิดในเรื่องเบี้ยปรับเต็มจำนวนเท่ากับทุนที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สัญญาการรับทุน ก.พ. เพื่อไปศึกษาวิชาในต่างประเทศที่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ไว้ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 7 ระบุว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญานอกจากจะต้องรับผิดชดใช้ทุน ก.พ. คืนโจทก์แล้ว ต้องใช้เงินอีกจำนวนหนึ่งเท่ากับทุน ก.พ.ดังกล่าวให้เป็นเบี้ยปรับแก่โจทก์ด้วย ตามข้อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เมื่อศาลเห็นว่าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ไม่ว่าสัญญาดังกล่าวจะทำกับส่วนราชการหรือไม่ก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า จำนวนค่าปรับที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์จำนวน 50,000 บาทต่ำไป แต่ถ้าจะให้จำเลยที่ 1 รับผิดเต็มจำนวนก็สูงเกินส่วน เพราะจำเลยที่ 1 ก็กลับเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 ควรจะรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้นเห็นว่า การที่ทางราชการส่งจำเลยที่ 1 ไปศึกษาวิชาในต่างประเทศก็เพื่อให้เกิดความรู้ความชำนาญ และกลับมารับราชการเพื่อประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศชาติสืบไป จำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบการศึกษาในต่างประเทศได้รับปริญญาโทวิชาปริญญา แล้ว แม้ศึกษาปริญญาเอกในสาขาวิชาดังกล่าวยังไม่จบหากจำเลยที่ 1 รีบกลับมาเป็นอาจารย์ตามที่โจทก์แจ้งไปก็จะเกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์และประเทศชาติเป็นอย่างมากการที่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยเพิ่งกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึงเกือบ 3 ปี ย่อมทำให้ประเทศชาติเสียหาย เมื่อได้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่างของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้ทางเสียในเชิงทรัพย์สินเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับให้โจทก์จำนวน300,000 บาท เมื่อรวมกับเงินที่ค้างชำระตามสัญญาจำนวน 293,546.31บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ 593,546.31 บาทจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน593,546.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share