คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3757/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 พักอยู่ที่ที่ทำงานและจะให้รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นประจำในการทำงาน เหตุรถเฉี่ยวชนกันเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 22 นาฬิกา หลังจากเวลาเลิกงานตามปกติแล้ว ขณะจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไปเติมน้ำมันแม้จะอยู่นอกเวลาทำงานแต่ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมาย จึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2
ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 ที่บัญญัติให้ผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวนนั้นมิได้ระบุข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขแห่งการรับผิดของผู้จัดการในหนี้ของห้างหุ้นส่วนแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดด้วยจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำรเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 841,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 26 ธันวาคม 2548) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 526,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2548 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ตามที่จำเลยทั้งสามไม่ฎีกาโต้แย้งว่าในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเฉลี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่แล่นอยู่ข้างหน้าซึ่งมีนายโจพจน์เป็นคนขับขี่และมีนางเรณูนั่งซ้อนท้ายเป็นเหตุให้นางเรณูถึงแก่ความตาย…
ปัญหาตามฎีกาต่อไปมีว่า เหตุเฉี่ยวชนเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 หรือไม่ และจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่าเหตุเกิดขณะจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารไปเติมน้ำมันเวลาประมาณ 22 นาฬิกา หลังจากเวลาเลิกงานตามปกติแล้วจึงเป็นการกระทำนอกทางการที่จ้าง เห็นว่า จากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านได้ความว่า จำเลยที่ 1 พักอยู่ที่ที่ทำงานและจะใช้รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นประจำในการทำงาน ดังนั้น การขับรถไปเติมน้ำมันแม้จะอยู่นอกเวลาทำงานแต่ก็เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องปฏิบัติการเพื่อให้เป็นไปตามที่จำเลยที่ 2 มอบหมายจึงเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 สำหรับจำเลยที่ 3 ที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างเหตุว่าไม่ต้องร่วมรับผิดเพราะจำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077 (2) ประกอบมาตรา 1087 ที่บัญญัติให้ผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่จำกัดจำนวนนั้นมิได้ระบุข้อยกเว้นหรือเงื่อนไขแห่งการรับผิดของผู้จัดการในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดไว้แต่อย่างใด ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการต้องร่วมรับผิดด้วยจึงชอบแล้ว
ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ทั้งสามควรได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงใดจำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีของนางเรณูซึ่งตามคดีไทยโบราณฝ่ายชายต้องเป็นฝ่ายหาเลี้ยงครอบครัวโจทก์ที่ 1 จึงไม่สมควรได้รับค่าขายไร้อุปการะจากนางเรณูผู้เป็นภริยาและโจทก์ที่ 2 กับที่ 3 ควรได้รับค่าขาดไร้อุปการะเป็นเงิน 102,750 บาท กับ 177,750 บาท ตามลำดับ โดยศาลไม่ควรกำหนดดอกเบี้ยสำหรับค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ให้เพราะเป็นหนี้ในอนาคตนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “สามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน” นั้น ทั้งสามีและภริยาต่างมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน มิใช่สามีฝ่ายเดียวที่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูภริยา ภริยาก็มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องอุปการะเลี้ยงดูสามีเช่นเดียวกัน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 443 วรรคท้ายได้ สำหรับค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นบุตรนั้นจำเลยทั้งสามมิได้ให้เหตุผลว่าเหตุใดโจทก์ที่ 2 จึงควรได้รับจำนวน 102,750 บาท และโจทก์ที่ 3 ควรได้รับจำนวน 177,750 บาท ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ยังเป็นผู้เยาว์ มีอายุเพียง 9 ปี และ 3 เดือน ตามลำดับ การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าโจทก์ที่ 2 และที่ 3 จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงนับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และฐานานุรูปของโจทก์ทั้งสามแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข และการกำหนดค่าขาดไร้อุปการะดังกล่าวเป็นการกำหนดให้จำเลยทั้งสามต้องชำระรวมกันครั้งเดียวมิใช่ทะยอยชำระหรือชำระเป็นรายเดือนรายปีต่อไปในภายหน้า จึงไม่ใช่หนี้ในอนาคตดังที่จำเลยทั้งสามฎีกา เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 บัญญัติว่า “ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด” อันก่อให้เกิดสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้นับแต่วันทำละเมิดแต่โจทก์ทั้งสามสละสิทธิตามกฎหมายดังกล่าวโดยขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป ศาลล่างทั้งสองจึงชอบที่จะให้จำเลยทั้งสามชำระดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องตามขอได้ นอกจากค่าขาดไร้อุปการะแล้วจำเลยทั้งสามยังฎีกาในส่วนค่าปลงศพที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ 50,000 บาท ตามฟ้องว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ศาลฎีกาพิเคราะห์คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ประกอบรายการค่าใช้จ่ายการปลงศพของนางเรณู เอกสารหมาย จ.11 แล้ว เห็นว่า รายการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับการจัดงานศพตามประเพณีทั่วไป แม้รายการที่ 5 ค่าแสดงแม่ไม้มวยไทยหน้าศพอาจจะเป็นความนิยมเชื่อถือเฉพาะรายซึ่งไม่มีความจำเป็นต่อการปลงศพเท่าใดนัก แต่โจทก์ทั้งสามก็ใช้จ่ายในส่วนนี้ไปเพียง 2,000 บาท จึงสมควรให้โจทก์ทั้งสามได้รับค่าปลงศพรวม 50,000 บาท ตามจำนวนที่ขอ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share