แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยกับพวกให้ร่วมกันรับผิดใช้เงินแก่ผู้ร้อง มิฉะนั้นให้นำทรัพย์จำนองของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ผู้ร้องนั้น ศาลเพียงแต่พิพากษาให้จำเลยร่วมกับพวกชำระหนี้แก่ผู้ร้องเท่านั้น มิได้กล่าวถึงการบังคับจำนองด้วย จึงต้องถือว่าคำฟ้องที่ผู้ร้องขอให้บังคับจำนอง ศาลนั้นพิพากษายกฟ้อง เมื่อผู้ร้องไม่อุทธรณ์ฎีกา คำพิพากษานั้นจึงผูกพันผู้ร้องมิให้บังคับจำนองตามสัญญาจำนองรายนี้ต่อไป ดังนั้นผู้ร้องจึงหามีสิทธิเหนือทรัพย์สินในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันในทางจำนองตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 อีกไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247 และ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งหกล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖ เด็ดขาด ต่อมาผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวนเงิน ๓,๙๐๑,๐๘๘.๑๗ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๕ ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันระบุอ้างคำพิพากษาของศาลจังหวัดสมุทรปราการ คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๖๕/๒๕๒๑ สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญาจำนองที่ดินโฉนดที่ ๑๗๒๘ ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ (บางเหี้ย) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งลูกหนี้ที่ ๕ จำนองผู้ร้องไว้เป็นหลักฐานประกอบหนี้ โดยมีเงื่อนไขว่าให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวชำระหนี้ ถ้าขาดอยู่เท่าใดก็ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๖ (๓) ในที่สุดคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยอ้างคำพิพากษาของศาลเป็นหลักฐานประกอบหนี้ และเสียค่าธรรมเนียมยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน ๒๕ บาท เท่ากับอัตราค่ายื่นคำขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แม้ในชั้นสอบสวนผู้ร้องอ้างส่งสัญญาจำนองทรัพย์สินรายนี้ระหว่างผู้ร้องกับลูกหนี้ที่ ๕ เป็นพยานก็ตาม แต่เมื่อคำพิพากษาดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้มีการบังคับจำนองเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้รวมอยู่ด้วยเช่นนี้ คดีจึงต้องห้ามมิให้ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันในทางจำนอง คงมีสิทธิขอรับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๓๐ (๘) เท่านั้น ต่อมาผู้ร้องเห็นว่าสิทธิตามสัญญาจำนองของผู้ร้องยังคงมีอยู่เพราะจะถูกตัดก็ต่อเมื่อขอรับชำระหนี้โดยปกปิดทรัพย์อันเป็นหลักประกันไว้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๗ เท่านั้น ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ตามสิทธิจำนองของผู้ร้องโดยอาศัยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๕ และขอถอนคำขอรับชำระหนี้ฉบับเดิม เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้ฉบับใหม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า เจ้าหนี้มีประกันในทางจำนองชอบที่จะเลือกขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๕ หรือมาตรา ๙๖ ก็ได้ คดีนี้ผู้ร้องขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา ๙๖ (๓) แล้ว เท่ากับสละสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้อย่างเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา ๙๕ และเมื่อคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยดังกล่าวมาแล้ว การที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ใหม่ จึงเป็นการขอรับชำระหนี้และดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๕ (ที่ถูกมาตรา ๑๔๔) และมาตรา ๑๔๘ จึงไม่อนุญาต และให้ผู้ร้องส่งหลักประกันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อนำออกขายทอดตลาดแล้วแบ่งเงินให้แก่เจ้าหนี้ต่อไป
ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าคำขอรับชำระหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตแล้วจะขอถอนไม่ได้ กับเมื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๖ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ แล้ว สิทธิตามมาตรา ๙๕ จะต้องหมดไป ทั้งการยื่นคำขอรับชำระหนี้ฉบับหลังมิได้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคำขอรับชำระหนี้ฉบับก่อน เพราะคำขอฉบับหลังเป็นเรื่องที่ผู้เรื่องชดใช้สิทธิเหนือทรัพย์อันเป็นหลักประกัน โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการขายทอดตลาดให้เป็นคนละเรื่องกับคำขอรับชำระหนี้ฉบับเดิมที่มีปัญหาว่าคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องเป็นคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ จึงขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รับคำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องฉบับหลังไว้ดำเนินการต่อไป หรือมิฉะนั้นก็ขอให้อนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้ฉบับดังกล่าว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คัดค้าน ซึ่งนอกจากจะยกเหตุผลขึ้นอ้างเช่นเดียวกับที่มีคำสั่งไม่อนุญาตตามคำขอรับชำระหนี้ฉบับหลังแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังอ้างว่า การที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๖ (๓) แล้ว มาขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ อีก จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย เพราะการขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๕ ผู้ร้องสามารถคิดดอกเบี้ยได้จนถึงวันขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ดังนั้นเมื่อขอรับชำระหนี้ตามมาตรา ๙๖ (๓) ไว้แล้วขอถอนเสีย และกลับมาขอใช้สิทธิตามมาตรา ๙๕ จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต เอาเปรียบลูกหนี้และเจ้าหนี้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทไทย เอ แอนด์ อี จำกัด ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารผู้ร้องในวงเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี คำนวณดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคาร มีนายครรชิต วรชาครีนันท์ ลูกหนี้ที่ ๕ และนายชี่หยู แซ่ฉั่ว เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่ ๕ ยังได้ทำสัญญาจำนองที่ดินโฉนดที่ ๑๗๒๘ ตำบลเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีขึ้นในภายหน้าเป็นประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ ๕ และของบริษัทไทย เอ แอนด์ อี จำกัด ในวงเงิน ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท หากบังคับจำนองขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ ก็ยอมชดใช้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วน หลังจากทำสัญญากันแล้วบริษัทไทย เอ แอนด์ อี จำกัด ได้เบิกเงินและนำเงินเข้าฝากตลอด ต่อมาปรากฏว่าบริษัท เอ แอนด์ อี จำกัด ไม่นำเงินเข้าหักทอนบัญชีอีก ผู้ร้องจึงได้บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ที่ ๕ แต่ก็ไม่มีผู้ใดชำระหนี้ให้ผู้ร้องจึงได้ฟ้องบริษัทไทย เอ แอนด์ อี จำกัด ลูกหนี้ที่ ๕ และนายชี่หยู แซ่ฉั่ว เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ขอให้บังคับบุคคลทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้เงิน ๒,๔๓๙,๐๐๘.๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง จนกว่าบุคคลทั้งสามจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ กับให้ลูกหนี้ที่ ๕ ไถ่ถอนจำนอง มิฉะนั้นให้เอาทรัพย์ที่จำนองขายทอดตลาดชำระหนี้ให้ผู้ร้อง หากขายทอดตลาดได้เงินไม่พอก็ให้ลูกหนี้ที่ ๕ ใช้เงินส่วนที่ขาดแก่ผู้ร้องจนครบ ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิจารณาแล้วพิพากษาตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๖๕/๒๕๒๑ ให้บริษัทไทย เอ แอนด์ อี จำกัด ลูกหนี้ที่ ๕ และนายชี่หยู แซ่ฉั่ว ร่วมกันใช้เงินตามฟ้องพร้อมด้วยดอกเบี้ยตามขอให้ผู้ร้อง กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องด้วยคดีถึงที่สุด ต่อมาลูกหนี้ที่ ๕ ถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายเป็นคดีนี้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้ร้องจึงนำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๖ (๓) ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นหลังจากนั้นผู้ร้องจึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันในทางจำนอง โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้ผู้ร้อง คดีมีปัญหาว่า ผู้ร้องจะขอรับชำระหนี้โดยให้บังคับจำนองตามที่ร้องขอได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในชั้นที่ผู้ร้องฟ้องคดีขอให้บริษัทไทย เอ แอนด์ อี จำกัด และลูกหนี้ที่ ๕ กับพวกร่วมกันรับผิดใช้เงินตามสัญญาแก่ผู้ร้อง มิฉะนั้นให้นำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ผู้ร้องนั้น ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิจารณาแล้ว เพียงแต่พิพากษาให้ลูกหนี้ที่ ๕ ร่วมกับพวกชำระหนี้ให้ผู้ร้องตามที่ผู้ร้องขอเท่านั้น มิได้กล่าวถึงการบังคับจำนองด้วย จึงต้องถือว่าคำฟ้องที่ผู้ร้องขอให้บังคับจำนอง ศาลนั้นพิพากษายกฟ้อง เมื่อผู้ร้องไม่อุทธรณ์ฎีกา คดีเป็นอันถึงที่สุด คำพิพากษานั้นจึงผูกพันผู้ร้องมิให้บังคับจำนองตามสัญญาจำนองรายนี้ต่อไป ดังนี้ผู้ร้องจึงหามีสิทธิเหนือทรัพย์สินในฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันในทางจำนองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๕ แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ อีกไม่ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๕ (๕) ประกอบด้วยมาตรา ๒๔๖, ๒๔๗ และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓
พิพากษายืน