คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3754/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้เช่าบ้านและเปิดเป็นร้านให้เช่าวีดีโอ คดีโจทก์ไม่มีมูล เป็นการพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง คดีโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137172 และ 310 จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ โจทก์อุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานโจทก์ชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของร้านดังกล่าวแต่อย่างใด เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ความผิดในข้อหาทั้งสามนี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157162 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 จับกุมโจทก์เนื่องจากเชื่อคำ ของ พยานและของโจทก์ในขณะตรวจค้นจับกุมตามที่ปรากฏในบันทึกการตรวจค้นจับกุมและรายงานประจำวัน ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่มีพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่ากระทำไม่ชอบประการใด และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบว่าโจทก์ได้แจ้งต่อฝ่ายจำเลยว่าโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าวเป็นการพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงอีกเช่นกัน โจทก์ฎีกามีใจความว่าข้อความตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมไม่เป็นความจริงการที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าบันทึกการตรวจค้นจับกุมดังกล่าวถูกต้องเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นนี้ฎีกาของโจทก์ที่อ้างมาเป็นข้อกฎหมายว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนก็เพียงเพื่อสนับสนุนข้ออ้างที่ว่าข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามบันทึกการตรวจค้นจับกุม เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2 และที่ 3เป็นกรรมการ จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปราม จำเลยที่ 4ซึ่งรับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำการตรวจค้นร้าน ซีบีวีดีโอ เลขที่ 87 ถนนพลับพลาไชย และได้แจ้งต่อจำเลยที่ 5ถึง ที่ 8 ด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า โจทก์เป็นเจ้าของร้านซีบีวีดีโอ เพื่อประสงค์ให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ความจริงโจทก์มิได้เป็นเจ้าของหรือเกี่ยวข้องกับร้านดังกล่าว โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งแปดทราบแล้วและแจ้งให้ทราบด้วยว่าโจทก์มีอาชีพรับราชการตำรวจ จำเลยที่ 5 ถึง ที่ 8ได้อ้างว่าทราบจากนางสุปราณี ว่าบ้านดังกล่าวให้นายประจักษ์ไม่ทราบนามสกุลเช่า จำเลยที่ 4 ถึง ที่ 8 ไม่เคยรู้จักโจทก์มาก่อนและนางสุปราณีก็มิได้ยืนยันว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้าน หรือเป็นเจ้าของร้านหรือเกี่ยวข้องใด ๆ กับร้านซีบีวีดีโอ เมื่อโจทก์จะออกจากสถานที่ดังกล่าว จำเลยที่ 4 ได้สนับสนุนให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ใช้ตำแหน่งหน้าที่กลั่นแกล้งจับกุมโดยไม่มีหมายจับ อีกทั้งไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้ และในขณะจับกุม ก็ไม่ปรากฏว่ามีการให้เช่าหรือมีการเผยแพร่วีดีโอ หรือโจทก์กระทำความผิดซึ่งหน้าแต่อย่างใดโดยจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 หน่วงเหนี่ยวกักขังโจทก์ให้ปราศจากเสรีภาพไม่ให้ออกจากสถานที่ดังกล่าว และควบคุมตัวโจทก์ไปยังสถานีตำรวจเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเลยที่ 4ยังได้นำข้อความเท็จดังกล่าวแจ้งให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 ซึ่งจดข้อความลงในเอกสารบันทึกการตรวจค้นจับกุม ระบุข้อความว่า ขณะตรวจค้นมีชายไทยเข้ามาในร้านดังกล่าว ได้เข้ามาแสดงว่าตนเป็นผู้ดำเนินการให้เช่าภาพยนตร์บันทึกม้วนวีดีโอของบ้านเลขที่ดังกล่าวชื่อนายประจักษ์ แก้วมีชัย โดยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ ซึ่งความจริงแล้วโจทก์มิใช่เจ้าของ หรือเกี่ยวข้องใด ๆ กับร้านซีบีวีดีโอและในขณะทำการตรวจค้น โจทก์ไม่เคยแสดงตัวว่าเป็นผู้ดำเนินกิจการให้เช่าภาพยนตร์บันทึกม้วนวีดีโอตามที่จำเลยที่ 4 แจ้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 157, 162, 172, 310, 83, 86, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยฟังว่าโจทก์เป็นผู้เช่าบ้านเลขที่ 87 ถนนพลับพลาไชย และเปิดเป็นร้านซีบีวีดีโอ คดีโจทก์ไม่มีมูล เช่นนี้ เป็นการพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง คดีโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 172 และ 310 จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของร้านแต่อย่างใด เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวความผิดในข้อหาทั้งสามนี้จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้นฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 จับกุมโจทก์เนื่องจากเชื่อคำของพยานและของโจทก์ในขณะนั้นตามที่ปรากฏในบันทึกตรวจค้นจับกุมและรายงานประจำวันเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่มีพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่ากระทำไม่ชอบประการใด และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบว่าโจทก์ได้แจ้งต่อฝ่ายจำเลยว่าโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดดังกล่าจึงเป็นการพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริงอีกเช่นกัน คดีโจทก์สำหรับข้อหาทั้งสองดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 โจทก์ฎีกามีใจความโดยสรุปว่าข้อความตามเอกสารหมาย จ.9 ไม่เป็นความจริงการที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าเอกสารหมาย จ.9 ถูกต้อง เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ที่อ้างมาเป็นข้อกฎหมายว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนนั้น ก็เพียงเพื่อสนับสนุนข้ออ้างที่ว่าข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นไปตามเอกสารหมาย จ.9 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน
พิพากษายกฎีกาของโจทก์.

Share