คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3754/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 166 และมาตรา 181 มีเจตนารมณ์ที่จะเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว มิให้มีการประวิงคดี จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นย่อมเสี่ยงต่อการที่จะถูกยกฟ้องอันเป็นผลเสียต่อคดีของโจทก์เอง กรณีจึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาลหาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยแต่ประการใดไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณา โดยไม่ปรากฏเหตุขัดข้องแล้ว ศาลก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องไปได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะมาศาลในวันนั้นด้วยหรือไม่ ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์จำเวลานัดของศาลคลาดเคลื่อนไปสมควรที่ศาลจะได้ทำการไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของโจทก์นั้น แม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์อ้าง ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีใหม่ จึงไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่ศาลจะต้องทำการไต่สวนเสียก่อนมีคำสั่ง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาหมายเรียกจำเลยมาให้การและนัดสืบพยานโจทก์ในวันเดียวกัน
ครั้นถึงวันเวลานัดสืบพยานโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่าการยกฟ้องไม่ชอบ ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องฎีกาแล้ว เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 จึงไม่รับฎีกาของโจทก์
โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น
ศาลฎีกามีคำสั่งว่า ฎีกาของโจทก์ข้อ 3 และข้อ 4 เป็นปัญหาข้อกฎหมาย จึงให้รับฎีกาของโจทก์ข้อดังกล่าวไว้พิจารณา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาข้อ 3 ซึ่งโจทก์ฎีกาว่า ในกรณีที่ประทับฟ้องไว้แล้ว เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ หากโจทก์จำเลยไม่มาศาล ศาลต้องเลื่อนคดีไปแล้วออกหมายจับจำเลย เพื่อให้ได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลเสียก่อน ศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปทันทีไม่ได้ นั้น
พิเคราะห์แล้ว บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 166 และ 181 ได้กำหนดหน้าที่ของโจทก์ว่า ในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี โจทก์จะต้องมาศาลตามนัด มิฉะนั้นก็ให้ศาลยกฟ้องเสีย เว้นแต่จะมีเหตุสมควรศาลจึงจะเลื่อนคดีไป จากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะเร่งรัดการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว มิให้มีการประวิงคดี จึงได้กำหนดมาตราการดังกล่าวเพื่อบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด มิฉะนั้นย่อมเสี่ยงต่อการที่จะถูกยกฟ้องอันเป็นผลเสียต่อคดีของโจทก์เอง กรณีจึงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับศาล หาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยแต่ประการใดไม่ ดังนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาโดยไม่ปรากฏเหตุขัดข้องแล้วศาลก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องไปได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะมาศาลในวันนั้นด้วยหรือไม่ ฎีกาของโจทก์ที่โต้แย้งว่า ศาลควรเลื่อนคดีไป แล้วออกหมายจับจำเลยเพื่อให้ได้ตัวจำเลยมาอยู่ในอำนาจศาลเสียก่อน เพราะปรากฏว่าจำเลยก็ไม่มาศาลในวันนัดดังกล่าวด้วย ศาลจะด่วนพิพากษายกฟ้องโจทก์ไปทันทีไม่ได้ นั้น จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ข้อ 4 ที่อ้างว่า โจทก์จำเวลานัดของศาลคลาดเคลื่อนไป สมควรที่ศาลจะได้ทำการไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเสียก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งในเรื่องนี้ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวแม้จะเป็นความจริงตามที่โจทก์ฎีกา ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะอนุญาตให้มีการพิจารณาคดีใหม่ จึงไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่ศาลจะต้องทำการไต่สวนเสียก่อนมีคำสั่ง การที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้มีการพิจารณาคดีใหม่ตามคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share