คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3750/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่1 เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์โจทก์จำเลยที่ 2เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ ตามข้อบังคับของโจทก์ข้อ 53 ระบุว่าหากผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้จัดการ ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องทำให้เกิดความเสียหายผู้จัดการต้องรับผิดชอบด้วย แต่ในการแต่งตั้ง จำเลยที่1 นั้นจำเลยที่1 ขอรับหน้าที่เฉพาะงานนโยบายเท่านั้นซึ่งคณะกรรมการของโจทก์ตกลงยินยอมด้วยส่วนการบริหารงาน ร้านโจทก์นั้นปรากฏว่าจำเลยที่2 เป็น ผู้บริหารงานของโจทก์ แต่ผู้เดียวตลอดมาดังนี้จำเลยที่ 1ไม่มีหน้าที่บริหารงานของโจทก์ และการบริหารงานของจำเลยที่2 มิใช่การทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับข้อ 53 เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับ จำเลย ที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงจะอาศัยข้อบังคับดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดด้วยหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ผู้จัดการและผู้ช่วยผู้จัดการของโจทก์ตามลำดับ จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการทั่วไปในบรรดากิจการค้าและการบริการของสหกรณ์รวมทั้งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ทั้งหลายของโจทก์ ทั้งมีหน้าที่รับผิดชอบตรวจตราการรับจ่ายเงินของโจทก์ให้เป็นการถูกต้อง การปฏิบัติหน้าที่จำเลยที่ 1จะต้องกระทำตามข้อบังคับและระเบียบของโจทก์ตลอดจนมติของคณะกรรมการดำเนินการโดยเคร่งครัด และตามข้อบังคับของโจทก์ระบุว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้จัดการปฏิบัติหน้าที่บกพร่องให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใดให้ถือว่าผู้จัดการรับผิดชอบด้วยทุกประการ ระหว่างปฏิบัติงานจำเลยที่ 2ซึ่งดำเนินกิจการร้านโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ได้นำเงินจากการขายสินค้า เงินค่าหุ้นเงินอื่น ๆ เข้าบัญชีในธนาคารของโจทก์ขาดไปรวมทั้งสิ้น 272,630.32 บาทโดยจำเลยที่ 2 ได้เบียดบังยักยอกเงินจำนวน 272,630.32 บาท ดังกล่าวไปซึ่งเงินจำนวนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามกฎหมายและตามข้อบังคับของร้านโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความจำเลยทั้งสองไม่ได้ทำการยักยอกทรัพย์ของโจทก์ตามฟ้อง หลักฐานทางบัญชีเอกสารท้ายฟ้องไม่ตรงกับความจริงเพราะโจทก์ทำขึ้นฝ่ายเดียว ที่โจทก์อ้างว่าเงินของโจทก์หายไปนั้นเป็นความเท็จ ความจริงเงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้หายไปแต่เนื่องจากโจทก์ทำบัญชีไม่ตรงต่อความเป็นจริง อีกทั้งโจทก์ไม่เคยแจ้งเรื่องนี้ให้จำเลยทั้งสองทราบ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้เงิน 272,630.32 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้จัดการเลย การบริหารงานทุกอย่างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการเองทั้งสิ้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2ทำแทน ที่ประชุมคณะกรรมการของโจทก์แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการให้อยู่ประจำช่วยเหลือปฏิบัติตลอดวัน ในการแต่งตั้งจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการนั้น จำเลยที่ 1 มีราชการมากจึงขอรับหน้าที่แต่เฉพาะงานนโยบายเท่านั้นคณะกรรมการก็ตกลงยินยอมด้วย จำเลยที่ 2 บริหารงานของโจทก์แต่ผู้เดียวตลอดมาคณะกรรมการก็ทราบดีอยู่แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ในการบริหารงานของโจทก์ตามข้อบังคับร้านสหกรณ์กลาโหม จำกัด ข้อ 50 การบริหารงานของจำเลยที่ 2จึงไม่ใช่การทำการแทนจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับข้อ 53 โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์กลาโหม จำเลยที่ 2 เป็นผู้ช่วยผู้จัดการแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้เข้ามาใช้อำนาจหน้าที่ตามข้อบังคับข้อ 50 จำเลยที่ 2ใช้อำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 จะมอบอำนาจให้หรือไม่ก็ตามจำเลยที่ 1 ก็ยังต้องมีความผูกพันตามข้อบังคับข้อ 50 การบริหารงานของจำเลยที่ 2ต้องถือว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับข้อ 53 เมื่อจำเลยที่ 2 ทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดด้วยตามข้อบังคับข้อ 53 ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ผู้ใดจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดต่อผู้เสียหาย ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้กระทำหรือร่วมกระทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1กระทำละเมิดร่วมกับจำเลยที่ 2 โจทก์จะอาศัยข้อบังคับของโจทก์ให้จำเลยที่ 1ต้องรับผิดด้วยหาได้ไม่ เพราะข้อบังคับดังกล่าวมิใช่กฎหมาย จะให้มีผลบังคับดังเช่นกฎหมายไม่ได้ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share