แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ศาลมีคำสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยเกิดขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยกระทำความผิดต่อ พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพหรือรับเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างอื่นทีอธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งนอกจากต้องถูกลงโทษตามมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว ยังมีบทบัญญัติในวรรคนี้เองบัญญัติให้ศาลสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135(พ.ศ.2539) เรื่องระบุชื่อและประสาทของยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศ ลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 การที่พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่งห้ามผู้ขับขี่เสพหรือรับเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ เฉพาะวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างอื่นที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น เมื่อต่อมาภายหลังเมทแอมเฟตามีนเปลี่ยนจากวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 มาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ ซึ่งมีผลนับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับคือวันที่ 16 ตุลาคม 2539ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง อีกต่อไป ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ฎีกาขึ้นมาแต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185,195 วรรคสอง,215 และ 225 และมีผลให้การเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 57 ต้องรับโทษตามมาตรา 91อันเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1วางโทษจำคุก 1 ปีลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ อันเป็นกฎหมายขณะกระทำความผิดซึ่งมีโทษเบากว่าเป็นคุณแก่จำเลยจึงชอบแล้วเมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่งศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ มาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่งได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ขณะจำเลยขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 80-8353 บุรีรัมย์ ได้เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรี, 106 ตรี พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3ตรี), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157 ทวิ และสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 62 ตรี, 106 ตรีพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102(3ตรี), 127 ทวิพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ(ที่ถูกมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง), 157 ทวิ (ที่ถูกมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง มีกำหนดเวลา 1 ปี ให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่จำเลยและพนักงานคุมประพฤติเห็นชอบเป็นเวลา 24 ชั่วโมงไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ยกคำขอที่ให้พักการใช้ใบอนุญาตขับขี่
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษ และสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษให้จำเลยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 1จำต้องมีคำสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยหรือไม่ เห็นว่าการที่ศาลมีคำสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยเกิดขึ้นได้ในกรณีที่จำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพหรือรับเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ซึ่งวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีนหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างอื่นที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งนอกจากต้องถูกลงโทษตามที่บัญญัติในมาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว ยังมีบทบัญญัติในวรรคนี้เองบัญญัติให้ศาลสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ แต่หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว โจทก์อุทธรณ์ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ปรากฏว่ามีการยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ระบุให้เมทแอมเฟตามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 135 (พ.ศ.2539) เรื่องระบุชื่อและประเภทของยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งตามบัญชีท้ายประกาศ ลำดับที่ 20 ระบุชื่อเมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 การที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ห้ามผู้ขับขี่เสพหรือรับเข้าร่างกายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ เฉพาะวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทกลุ่มแอมเฟตามีน หรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทอย่างอื่นที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้นเมื่อต่อมาภายหลังเมทแอมเฟตามีนเปลี่ยนจากวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518 มาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งมีผลนับแต่วันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับคือวันที่ 16 ตุลาคม 2539 ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่งอีกต่อไป ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ฎีกาขึ้นมาแต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185, 195 วรรคสอง,215 และ 225 และมีผลให้การเสพเมทแอทเฟตามีนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57ต้องรับโทษตามมาตรา 91 อันเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคหนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1วางโทษจำคุก 1 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2528 อันเป็นกฎหมายขณะกระทำความผิดซึ่งมีโทษเบากว่า เป็นคุณแก่จำเลยจึงชอบแล้ว เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิวรรคหนึ่ง ศาลไม่อาจมีคำสั่งพักการใช้ใบอนุญาตขับขี่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 157 ทวิ วรรคหนึ่งได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยนั้น เห็นว่าการที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนในระหว่างขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อซึ่งจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการขับมากกว่าการขับรถยนต์โดยทั่วไป นอกจากการเสพดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของจำเลยแล้วย่อมเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ามักเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุในการจราจลอยู่เสมอ อันกระทบถึงความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของสาธารณชน รวมถึงความเสียหายในทรัพย์สินของราชการและเอกชนด้วย จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นไม่ปรับและไม่รอการลงโทษแก่จำเลย ชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง,157 ทวิ วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1