แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
พฤติการณ์ที่จำเลยเห็นเจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้หยุดรถเพื่อตรวจค้นสิ่งของผิดกฎหมาย จำเลยไม่ยอมหยุดรถ แต่กลับขับรถพา ม. หลบหนี และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจขับรถกระบะไล่ติดตามจนเฉี่ยวชนกับรถจำเลย แล้วจำเลยยังคงหลบหนีไปแต่ลำพังโดยปล่อยให้ ม. ถูกจับพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางแต่จำเลยฎีการับว่า ม. มีเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้วโยนทิ้งกลางถนนแสดงว่าจำเลยทราบและมีเจตนาร่วมกระทำผิดกับ ม.
เมื่อปรากฏว่าจำเลยจะมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์วันที่ 2 ตุลาคม 2547 การที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันพิพากษานั้น กรณีเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษากำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะเกินกว่าที่จำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า ให้ส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมนับแต่วันมีคำพิพากษาศาลฎีกาจนกว่าจำเลยจะมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามีการแก้ไข พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯมาตรา 67 ซึ่งตามกฎหมายเดิมให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับจะเห็นได้ว่า แม้กฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม และบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ ส่วนโทษปรับนั้นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 130 เม็ด น้ำหนัก 11.70 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ.2522 มาตรา 67 ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 จำคุก 2 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104(2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนด 2 ปี กับให้จำเลยฝึกวิชาชีพ 2 วิชา นับแต่วันพิพากษา ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “…ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามหน้าที่ ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำจำเลย เชื่อว่าประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามเบิกความไปตามจริง พฤติการณ์ที่จำเลยเห็นเจ้าพนักงานตำรวจเรียกให้จำเลยหยุดเพื่อตรวจค้นสิ่งของผิดกฎหมาย จำเลยไม่ยอมหยุดรถ แต่กลับขับรถพานายมนตรีหลบหนี และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจขับรถกระบะไล่ติดตามจนเฉี่ยวชนกับรถจำเลย และจำเลยยังคงหลบหนีไปแต่ลำพังโดยปล่อยให้นายมนตรีถูกจับพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง หลังจากนั้นก็ไม่ได้ติดต่อกับนายมนตรีอีก ทั้งที่ทราบว่านายมนตรีถูกจับย่อมเป็นการผิดวิสัยอีกทั้งตามฎีกาของจำเลยก็รับว่านายมนตรีมีเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้วโยนทิ้งกลางถนน แสดงว่าจำเลยทราบและมีเจตนาร่วมกระทำผิดกับนายมนตรี ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า เหตุที่ขับรถจักรยานยนต์หลบหนีเพราะเห็นชาย 3 ถึง 4 คน แต่งกายธรรมดาและข้างถนนมีรถกระบะจอดอยู่ จึงเกิดความกลัวไม่หยุดรถตามที่ได้รับสัญญาณนั้น เห็นว่าพยานโจทก์ทุกปากเบิกความยืนยันว่าบริเวณที่ให้สัญญาณรถจักรยานยนต์จำเลยหยุดเพื่อตรวจคือจุดตู้ยามวังผาแดงซึ่งมีเจ้าพนักงานตำรวจทั้งที่แต่งกายสวมเครื่องแบบตำรวจและแต่งกายธรรมดาอยู่ด้วย และมีรถของทางราชการและรถส่วนตัวของเจ้าพนักงานตำรวจจอดอยู่ประกอบกับจำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธว่าบริเวณที่ได้รับสัญญาณให้หยุดรถนั้นมิใช่บริเวณจุดตู้ยามวังผาแดงแต่อย่างไร กรณีจึงเชื่อว่า จำเลยได้รับสัญญาณให้หยุดรถที่จุดตู้ยามวังผาแดง ซึ่งแม้จะมีเจ้าพนักงานตำรวจบางคนมิได้แต่งกายสวมเครื่องแบบตำรวจก็ตาม แต่ก็มีเจ้าพนักงานตำรวจที่แต่งกายสวมเครื่องแบบตำรวจอยู่ด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิดความกลัวตามที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยอ้างว่าคำเบิกความของนายดาบตำรวจเหรียญและสิบตำรวจเอกอดุลย์ประจักษ์พยานโจทก์รับฟังไม่ได้เพราะเบิกความถึงวิธีให้สัญญาณรถหยุดต่างกันนั้นในประการนี้จำเลยก็รับอยู่ว่ามีการเรียกให้หยุด จึงไม่นับเป็นข้อพิรุธ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าเจ้าพนักงานตำรวจออกหมายจับจำเลยเพราะคำซัดทอดของนายมนตรีและโจทก์ก็มิได้นำนายมนตรีมาเบิกความว่า จำเลยมีส่วนรู้เห็นอย่างไรนั้น เห็นว่าพฤติการณ์ที่เจ้าพนักงานตำรวจจับนายมนตรีพร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีนที่เห็นนายมนตรีโยนทิ้งและจำเลยเป็นคนขับรถจักรยานยนต์ไปกับนายมนตรี และเป็นผู้ขับรถพานายมนตรีที่เป็นเพียงผู้ซ้อนท้ายหลบหนี ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยแล้ว โดยหาจำต้องนำนายมนตรีมาเบิกความอีกไม่ คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายว่า สมควรส่งมอบตัวจำเลยให้บิดามารดาดูแลแทนการส่งตัวจำเลยไปควบคุมยังสถานพินิจฯ เพื่อฝึกและอบรมหรือไม่ เห็นว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางที่จับได้มีจำนวนถึง 130 เม็ด นับว่าเป็นจำนวนค่อนข้างมากทั้งจำเลยต่อสู้คดีมาโดยตลอด แสดงถึงการไม่รู้สำนึกจำต้องให้จำเลยได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยให้เป็นพลเมืองดี ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นการส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมาเหมาะสมแล้วฎีกาของจำเลยล้วนฟังไม่ขึ้น แต่เนื่องจากจำเลยจะมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์วันที่ 2 ตุลาคม 2547 การที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา มีกำหนด 2 ปีนับแต่วันพิพากษานั้น กรณีเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษากำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะเกินกว่าที่จำเลยมีอายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า ให้ส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกอบรมนับแต่วันมีคำพิพากษาศาลฎีกาจนกว่าจำเลยจะมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 104 ประกอบด้วยมาตรา 105
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในมาตรา 67 ที่แก้ไขใหม่ ได้กำหนดจำนวนยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่มีสารแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนผสมอยู่ว่าต้องมีไม่ถึง 15 หน่วยการใช้ หรือต้องมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึง 1.5 กรัม เป็นการแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่ไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องมีจำนวนหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยในส่วนนี้ส่วนกำหนดโทษนั้นตามกฎหมายเดิมให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับจะเห็นได้ว่า แม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากันและตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมแต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น จึงต้องถือว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดและกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ ส่วนโทษปรับนั้นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 67 (ที่แก้ไขใหม่) ให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครราชสีมา นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจนกว่าจำเลยจะมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3