คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3747/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สต๊อกสินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 1 เป็นสินค้าระหว่างผลิตส่วนสต๊อกสินค้าที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นสินค้าที่เก็บในโกดัง เป็นสต๊อกสินค้าต่างรายการกัน จึงมิใช่การเอาประกันภัยซ้ำซ้อน โจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย
ข้ออ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดที่ว่าโจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงการประกันภัยสต๊อกสินค้าไว้กับบริษัทประกันภัยอื่น โจทก์แจ้งความเสียหายและมูลค่าของทรัพย์สูงกว่าความเป็นจริงมากมาย ถือว่าเป็นการฉ้อฉล และโจทก์ละเลยไม่สงวนรักษาซากทรัพย์สินอันเป็นเหตุให้ซากทรัพย์สินสูญหาย เป็นการผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยนั้น นอกจากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เช่นนั้น หลังเกิดเหตุจำเลยทั้งสามไม่เคยยกข้ออ้างเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวปฏิเสธความรับผิดกลับเสนอชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสามจะยกขึ้นปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่
ธนาคารผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ และโจทก์มีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวได้จากจำเลยที่ 3
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แต่ตอนวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ไม่ได้กล่าวถึงดอกเบี้ยที่ให้จำเลยที่ 3 ใช้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นเรื่องไม่ให้เหตุผลในคำวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4)ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยใหัชัดเจน

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยโจทก์เป็นบุคคลรายเดียวกัน และกำหนดให้เรียกจำเลยในสำนวนที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันรับประกันภัยทรัพย์สินโจทก์คือสิ่งปลูกสร้างอาคารโรงงาน เครื่องจักรและอุปกรณ์ วัตถุดิบระหว่างการผลิต สินค่ากึ่งสำเร็จรูปเครื่องทำความเย็น รวมทั้งอุปกรณ์ปั๊มน้ำมัน สายไฟ หลอดไฟ ตู้ไฟ มูลค่ารวม ๕๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทโดยจำเลยที่ ๑ รับประกันเป็นมูลค่า ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒ รับประกันเป็นมูลค่า๒๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ ซึ่งรับโอนกิจการมาจากบริษัทแฮนโอเวอร์ อินชัวรันส์ จำกัดรับประกันเป็นมูลค่า ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท นอกจากนั้นจำเลยที่ ๒ ยังได้ร่วมกับบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด รับประกันสิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรอุปกรณ์ สต๊อกอะไหล่ สต๊อกสินค้าต่าง ๆไว้จากโจทก์ เป็นเงิน บริษัทละ ๔๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๒ ยังได้ร่วมกับจำเลยที่ ๓รับประกันภัยสต๊อกสินค้าฝ้ายอัดเส้นใยสังเคราะห์ซึ่งเก็บอยู่ในโรงงานปั่นด้าย กรอด้ายและโกดังอีกบริษัทละ ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยโจทก์รับผิดชอบเองเป็นเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓ ยังรับประกันภัยเครื่องจักรต่าง ๆ และอุปกรณ์เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐,๐๐๐ บาทด้วย และโจทก์ยังได้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ ๓ เพิ่มอีก ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยโจทก์ตกลงให้ธนาคารกรุงเทพจำกัด เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยสองฉบับหลังในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ ต่อมาเกิดเพลิงไหม้โรงงานของโจทก์ที่เอาประกันภัยไว้และอยู่ในระหว่างกรมธรรม์ประกันภัยยังมีผลใช้บังคับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์และโจทก์แจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๓ ทราบแล้วเช่นกัน ขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามส่วนในกรมธรรม์ประกันภัยพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันเกิดเหตุเพลิงไหม้จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ จำเลยทั้งสามไม่ต้องรับผิด โจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยหลายประการ ความรับผิดของจำเลยทั้งสามเป็นอันลบล้างไปค่าเสียหายของโจทก์ตามฟ้องสูงกว่าความเป็นจริงมาก หากจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามต้องเฉลี่ยชดใช้ให้แก่โจทก์ก็ไม่ถึงที่โจทก์ฟ้อง การโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด มาเป็นของโจทก์ไม่มีผลตามกฎหมายและไม่ผูกพันจำเลยที่ ๓ เพราะคู่กรณีมิได้ทำบันทึกการโอนต่อหน้าและด้วยนความยินยอมของจำเลยที่ ๓ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า เหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ แล้ววินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่าโจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบถึงการประกันภัยสต๊อกสินค้าไว้กับบริษัทประกันภัยอื่น คือ บริษัทจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเงินทุนประกันภัยอีกบริษัทละ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวม ๑๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท และไม่ได้มีการบันทึกรายการประกันภัยไว้ในกรมธรรม์-ประกันภัยเอกสารหมาย ล.๒ ถือได้ว่าโจทก์ละเลยมิได้ปฏิบัติตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมายล.๒ ข้อ ๒ จำเลยที่ ๑ จึงหลุดพ้นจากความรับผิดนั้น เห็นว่าสต๊อกสินค้าที่โจทก์เอาประกันไว้กับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ รวม ๑๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้น เป็นสินค้าต่างรายการกันกับที่เอาประกันไว้กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งจะเห็นได้จากคำเบิกความของนายพิพัฒน์ ศิริเกียรติสูง กรรมการโจทก์ที่ว่าสต๊อกสินค้าที่เอาประกันภัยจำเลยที่ ๑ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.๒ เป็นสินค้าระหว่างผลิตส่วนสต๊อกสินค้าที่เอาประกันภัยจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ตามกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๗เป็นสินค้าที่เก็บในโกดัง ซึ่งสอดคล้องกับที่ปรากฏในเอกสาร จึงมิใช่การเอาประกันภัยซ้ำซ้อนไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบ ทั้งความข้อนี้จำเลยที่ ๑ ก็ไม่เคยปฏิเสธหรือยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อปัดความรับผิดมาก่อนเลย และเมื่อพิจารณาเรื่องค่าเสียหาย จำเลยที่ ๑ ก็ยอมรับจะชดใช้ค่าเสียหายให้ ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ ๑ ก็ไม่ได้ถือเอาเงื่อนไขดังกล่าวเป็นสาเหตุที่จะไม่ต้องรับผิด
ที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาว่า เมื่อเกิดเพลิงไหม้ โจทก์ได้แจ้งความเสียหายและมูลค่าของทรัพย์สูงกว่าความเป็นจริงมากมาย ถือว่าเป็นการฉ้อฉลผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ ๑๔.๒ ซึ่งเป็นข้อสาระสำคัญทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าจำเลยว่าจ้างสำนักงานสำรวจทรัพย์สินและประเมินราคาไปประเมินความเสียหาย ซึ่งสำนักงานดังกล่าวก็ได้ทำรายงานผลการสำรวจที่เป็นประโยชน์แก่จำเลย แต่ตัวเลขค่าเสียหายและมูลค่าทรัพย์สินส่วนใหญ่ได้มาโดยการคาดคะเนและไม่ปรากฏวิธีคิดคำนวณ จึงมีน้ำหนักน้อย ทั้งจำเลยเองไม่เคยยกข้ออ้างเรื่องโจทก์ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขข้อนี้ขึ้นปฏิเสธความรับผิดแต่อย่างใด ตรงกันข้ามจำเลยกลับเสนอชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๒๘๙ จำเลยจะกล่าวอ้างเหตุนี้มาลบล้างความรับผิดของตนหาได้ไม่
ที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ฎีกาว่า โจทก์ละเลยไม่สงวนรักษาซากทรัพย์สินอันเป็นเหตุให้ซากทรัพย์สินสูญหายนั้น เกี่ยวกับปัญหานี้จำเลยไม่มีพยานหลักฐานนำสืบให้ได้ความดังกล่าว แต่กลับได้ความว่าหลังจากเกิดเพลิงไหม้แล้ว โจทก์ได้เก็บรักษาซากฝ้ายไว้โดยตลอด โจทก์เห็นว่าเนื่องจากฝ้ายเปียกน้ำเก็บไว้นาน ๆ จะเสื่อมคุณภาพใช้การไม่ได้ จำเป็นต้องขายเป็นซากฝ้ายไปแต่จำเลยก็หน่วงเหนี่ยวไม่ยอมให้ขาย ทั้งหลังจากเกิดเพลิงไหม้แล้วจำเลยก็ไม่เคยยกข้ออ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ปฏิเสธความรับผิดเลย แต่กลับเสนอชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ จำเลยจะมาปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่
ที่จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยหมาย จ.๕ และ จ.๗ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ คงต้องรับผิดเป็นจำนวนเงินบริษัทละ ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาทธนาคารกรุงเทพผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย จ.๗ ได้โอนสิทธิเรียกร้องส่วนนี้ให้โจทก์แล้วตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเอกสารหมาย จ.๒๙๖ และโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ ๓ทราบแล้ว ตามหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้อง เอกสารหมาย จ.๒๙๗ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวได้จากจำเลยที่ ๓
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้จำเลยที่ ๓ รับผิดชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๑๒,๐๑๗,๑๒๑.๒๔ บาท นับจากวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๒๓เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ดังเช่นจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงยังคลาดเคลื่อนและผิดพลาดอยู่ ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยให้จำเลยที่ ๓ รับผิดชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ดังกล่าวด้วยนั้นศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ ๓รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย แต่ตอนวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ไม่ได้กล่าวถึงดอกเบี้ยที่ให้จำเลยที่ ๓ ใช้ให้แก่โจทก์ จึงเป็นเรื่องไม่ให้เหตุผลในคำวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๑ (๔) ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยเสียให้ชัดเจนโดยเห็นว่า จำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.๕ และจ.๗ ซึ่งผู้รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวจะต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยด้วย โดยนับแต่วันที่๑๓ เมษายน ๒๕๒๓ อันเป็นวันที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ ๓ จึงต้องชดใช้ดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย
พิพากษายืน.

Share