คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3741/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 137 ให้คิดเงินเพิ่มจากจำนวนภาษีที่ไม่ชำระภายในกำหนดเวลาหรือชำระขาด โดยการคำนวณเงินเพิ่มดังกล่าวมิให้คิดทบต้นและมิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ แสดงว่าฐานแห่งการคิดเงินเพิ่มหมายถึงเฉพาะจำนวนภาษีที่ไม่ชำระภายในกำหนดเวลาหรือชำระขาดเท่านั้นไม่รวมถึงเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม การคิดจากเงินเพิ่มถือว่าเป็นการคิดทบต้นและทำให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ส่วนกรณีที่มาตรา 139 ที่ให้เบี้ยปรับและเงินเพิ่มถือเป็นเงินภาษีนั้นเป็นเพียงการบัญญัติขึ้นเพื่อให้สอดคล้องชัดเจนกับคำนิยามคำว่า “ภาษี” ตามมาตรา 4 และมาตรา 6

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2543 โดยตั้งบริษัทวิภาวดีแพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผนและศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2543 ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2543 ศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากผู้บริหารแผนได้ปฏิบัติตามแผนครบถ้วนสมบูรณ์ การฟื้นฟูกิจการได้ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผนแล้ว

เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีสรรพสามิต (น้ำมัน) แยกเป็นเงินเพิ่มร้อยละ0.5 ต่อเดือน จำนวน 26,919,673.98 บาท ภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยร้อยละ 10 จำนวน 2,691,967.39 บาท เงินเพิ่มใหม่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จำนวน 6,662,619.30บาท และภาษีสรรพสามิต (แบตเตอรี่) แยกเป็นเบี้ยปรับร้อยละ 2 จำนวน 1,024.60 บาทเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จำนวน 384.23 บาท ภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยร้อยละ 10จำนวน 140.88 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 36,275,619.38 บาท รายละเอียดปรากฏตามบัญชีแนบท้ายคำขอรับชำระหนี้

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้เจ้าหนี้ ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/29 แล้วปรากฏว่าผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้ว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มใหม่ร้อยละ1.5 ต่อเดือนจากเงินเพิ่มร้อยละ 0.5 ต่อเดือน และภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยร้อยละ 10 เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 137 ที่ห้ามมิให้คิดเงินเพิ่มทบต้น

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ภาษีสรรพสามิตจำนวน 29,611,641.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้น คำขอรับชำระหนี้นอกจากนี้ให้ยก

เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เงินเพิ่มร้อยละ 0.5 ต่อเดือน จำนวน 26,919,673.94บาท และภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยร้อยละ 10 จำนวน 2,691,967.39 บาท รวม 29,611,641.37 บาท เป็นเงินภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 139 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิคิดเงินเพิ่มใหม่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งแก้ไขคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอ

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงว่า เจ้าหนี้คิดเงินเพิ่มใหม่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จากเงินจำนวน 29,611,641.37 บาท ซึ่งเป็นเงินเพิ่มเติมและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทย จึงเป็นการคิดเงินเพิ่มทบต้นต้องห้ามตามมาตรา 137 และไม่ถือเป็นเงินภาษีตามมาตรา 139

ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า เงินเพิ่มใหม่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จำนวน 6,662,619.30 บาท เจ้าหนี้คำนวณจากต้นเงินจำนวน 29,611,641.37 บาท ซึ่งก็คือเงินเพิ่มเดิมและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทย จึงเป็นการคำนวณเงินเพิ่มในลักษณะทบต้นต้องห้ามตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 137 เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ ส่วนเงินเพิ่มใหม่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น เจ้าหนี้เรียกในลักษณะเงินเพิ่ม จึงไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้เช่นกัน ให้ยกคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้

เจ้าหนี้อุทธรณ์

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิคิดเงินเพิ่มใหม่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จำนวน 6,662,619.30 บาทและเงินเพิ่มใหม่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2543 จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นหรือไม่ ปัญหาที่ว่าเจ้าหนี้มีสิทธิคิดเงินเพิ่มใหม่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือนนับแต่วันที่ 10 มกราคม 2543 จนกว่าจะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นหรือไม่ แม้ผู้ทำแผนจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำร้องโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ แต่ก็เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าที่ลูกหนี้จะต้องชำระแก่เจ้าหนี้มีเพียงเงินเพิ่ม 26,919,673.98 บาท และภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทย 2,691,967.39 บาท ซึ่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตพ.ศ. 2527 มาตรา 137 เป็นบทบัญญัติหลักในการให้คิดเงินเพิ่มจากจำนวนภาษีที่ไม่ชำระภายในกำหนดเวลาหรือชำระขาดได้บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่าการคำนวณเงินเพิ่มดังกล่าวมิให้คิดทบต้นและมิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ฐานแห่งการคิดเงินเพิ่มหมายถึงเฉพาะจำนวนภาษีที่ไม่ชำระภายในกำหนดเวลาหรือชำระขาดเท่านั้น ไม่รวมถึงเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม การที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่าลูกหนี้จะต้องชำระเงินเพิ่มและภาษีเก็บเพิ่มเพื่อมหาดไทยดังกล่าวเพราะถือเป็นเงินภาษีตามมาตรา 139 โดยไม่ถือเป็นการคำนวณเงินเพิ่มในลักษณะทบต้นนั้นย่อมขัดอยู่ในตัวเอง เนื่องจากฐานที่นำมาคำนวณเงินเพิ่มกรณีของเจ้าหนี้จริง ๆแล้วก็คือเงินเพิ่ม เมื่อคิดจากเงินเพิ่มก็ต้องถือว่าเป็นการคิดทบต้นและทำให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ส่วนกรณีตามมาตรา 139 ที่ให้เบี้ยปรับและเงินเพิ่มถือเป็นเงินภาษีนั้นก็เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อให้สอดคล้องชัดเจนกับคำนิยามคำว่า “ภาษี”ตามมาตรา 4 และมาตรา 6 ที่ให้หมายความถึงภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ดังนั้น เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิคิดเงินเพิ่มใหม่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน จำนวน 6,662,619.30 บาท และไม่มีสิทธิคิดเงินเพิ่มใหม่ร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 10 มกราคม 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องคัดค้านของเจ้าหนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share