คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3741/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ ผ. เป็นผู้ไปแจ้งการเกิดของโจทก์โดยระบุว่าตนเองเป็นบิดา ยินยอมรับโจทก์ว่าเป็นบุตรอยู่ในทะเบียนบ้าน และระหว่างสงครามก็พาโจทก์และภรรยาอพยพครอบครัวไปด้วยกัน พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เป็นบุตรที่ ผ. รับรองแล้ว ทรัพย์มรดกของ ผ. เป็นสินส่วนตัวของโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกดังกล่าว จึงเป็นการจัดการสินส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งโจทก์มีอำนาจจัดการเองได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี ผู้ที่จะยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงน้องเจ้ามรดก ไม่มีสิทธิได้รับมรดกเพราะยังมีโจทก์ซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทลำดับเหนือกว่าอยู่ จำเลยจะยกเอาอายุความมรดกมาต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกหาได้ไม่ เหตุที่จำเลยฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของ ผ.จากอ.ผู้จัดการมรดกเพราะเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ได้หายสาบสูญไปจำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกเอาเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเลยต้องออกไปตามความจำเป็นในการจัดการทรัพย์มรดก โดยถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การรักษาทรัพย์สิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการทำศพ ผ.ด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าผลประโยชน์ของจำเลยนั้น จำเลยหามีสิทธิทีจะนำมาหักไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้รับมรดกของนายผันแต่ผู้เดียวและบังคับให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน ถ้าไม่โอนภายในกำหนด ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ถ้าจำเลยไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดก ดังกล่าวได้ ก็ให้จำเลยใช้ราคาเป็นเงิน700,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นหญิงมีสามี ไม่ได้รับอนุญาตจากสามีจึงฟ้องคดีนี้ไม่ได้ โจทก์ไม่ใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายผันอ้นเอี่ยมเจ้ามรดก คดีของโจทก์ขาดอายุความ หากศาลฟังว่าโจทก์เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนายผัน โจทก์ต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมที่จำเลยใช้จ่ายไปในการดำเนินคดีเรียกทรัพย์มรดกจากนางอุดร บัวก้านทอง ผู้จัดการมรดกของนายผัน กับค่าทำศพและค่าปรับปรุงที่ดินแก่จำเลย และจำเลยควรได้รับผลประโยชน์ตอบแทนรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์เป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกของนายผัน อ้นเอี่ยม แต่ผู้เดียวคดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายที่ดินและบ้านมรดกมีราคา 500,000 บาท จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านมรดกให้แก่นางลัดดา เนตรประภาไปโดยสมบูรณ์แล้ว คงบังคับให้จำเลยเพียงใช้ราคาทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์เท่านั้น พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 500,000 บาทแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะแม้โจทก์จะเป็นบุตรนายผันกับนางเสงี่ยมซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ลำพังแต่นายผันไปแจ้งการเกิดของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 ยังไม่พอฟังว่านายผันได้รับรองโจทก์เป็นบุตรแล้วนั้น เห็นว่านอกจากนายผันเป็นผู้ไปแจ้งการเกิดของโจทก์โดยระบุว่าตนเองเป็นบิดา ตามสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย จ.2 และยินยอมรับโจทก์ว่าเป็นบุตรอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 974 ของนายผันตามสำเนาทะเบียนบ้าน เอกสารหมาย จ.3แล้ว นางสังเวียน จารุเสน พยานจำเลย ซึ่งเป็นพี่สาวจำเลยยังเบิกความว่านายผันมีบุตรคนเดียวคือโจทก์ ระหว่างสงครามนายผันได้พาโจทก์และภรรยาอพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่ที่บ้านของบิดาพยาน ซึ่งเป็นบิดาของนายผันด้วย ที่อำเภอพระประแดงนอกจากนี้จำเลยก็เบิกความรับรองข้อความดังกล่าว และว่าเมื่อนายบุญลือมาขอให้จำเลยฟ้องนางอุดรเรียกทรัพย์มรดกรายนี้จำเลยได้ถามนายบุญลือว่าเหตุใดไม่ไปตามโจทก์ให้มาฟ้องเองดังนั้นจำเลยจึงทราบเป็นอย่างดีว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายผันแต่ผู้เดียว พฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นบุตรที่นายผันได้รับรองแล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตจากสามีให้ฟ้องคดีนี้ จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้นเห็นว่า ทรัพย์มรดกของนายผันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) การที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงเป็นการจัดการสินส่วนตัวของโจทก์ซึ่งโจทก์มีอำนาจจัดการเองได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามีโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาว่า แม้โจทก์จำเลยจะเป็นทายาทต่างอันดับกัน ก็ยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย คดีของโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ผู้ที่จะยกอายุความ 1 ปี ขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่เฉพาะทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1755 เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นเพียงน้องนายผันไม่มีสิทธิได้รับมรดก เพราะยังมีโจทก์ซึ่งเป็นบุตรนายผัน และเป็นทายาทลำดับเหนือกว่าอยู่ จำเลยจะยกเอาอายุความมรดกมาต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทมีสิทธิได้รับมรดกหาได้ไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า จำเลยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายที่จำเลยต้องเสียไปในการได้รับทรัพย์มรดกของนายผันออกจากเงินที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งมีนายผันเจ้ามรดกเป็นหัวหน้าครอบครัวในช่องบุคคลที่ 3 อันเป็นรายการเกี่ยวกับตัวโจทก์ได้ถูกขีดฆ่าออก โดยระบุในช่องย้ายออกว่า ไม่ทราบที่อยู่ ส่วนปี พ.ศ.ที่ระบุข้อความดังกล่าวนั้นเลอะเลือน คงได้ความจากคำเบิกความของนายประจักษ์ ประคองทรัพย์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยนายทะเบียนเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ว่า ลายมือชื่อนายทะเบียนที่รับรองข้อความเกี่ยวกับบุคคลที่ 3 ดังกล่าวนั้นเป็นลายมือชื่อนายบุญยง อ่อนอำไพ ซึ่งเกษียณอายุไปเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2519และได้ความจากคำเบิกความของนางจันทนา ชัยยัง พยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้ช่วยนายทะเบียนเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ว่า การที่นายทะเบียนจะขีดชื่อบุคคลใดออกจากทะเบียนบ้าน เป็นหน้าที่ของเจ้าบ้านเท่านั้นที่จะต้องมายื่นคำร้องต่อนายทะเบียน นอกจากนี้นายบุญลือ ครุฑชูชื่น พยานโจทก์ซึ่งอาศัยอยู่กับนายผันเนื่องจากเป็นน้องภรรยาคนหนึ่งของนายผันเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2525 ว่า พยานอยู่ที่บ้านของนายผันมาประมาณ 11 ปี ตอนเข้ามาอยู่โจทก์มีสามีและออกจากบ้านดังกล่าวไปแล้ว โจทก์จะไปอยู่ที่ไหนนายผันไม่ทราบ ไม่เคยเห็นโจทก์เขียนจดหมายถึงนายผัน จากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้ออกจากบ้านของนายผันก่อนที่นายผันจะถึงแก่กรรมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า10 ปี และนายผันผู้เป็นเจ้าบ้านเป็นผู้แจ้งต่อนายบุญยงอ่อนอำไพ นายทะเบียนให้ขีดฆ่าชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของนายผัน เนื่องจากไม่ทราบที่อยู่ดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.3ที่โจทก์นำสืบว่าได้ติดต่อไปมาหาสู่กับนายผันผู้เป็นบิดาอยู่จึงขัดต่อพยานหลักฐานดังกล่าว และโดยเหตุที่คดีได้ความจากคำเบิกความของนายบุญลือพยานโจทก์ต่อไปอีกว่า เมื่อพยานถูกนางอุดร บัวก้านทอง ผู้จัดการมรดกของนายผันฟ้องขับไล่ พยานจึงได้ไปขอให้จำเลยมาฟ้องนางอุดรเรียกทรัพย์มรดกของนายผันที่เป็นเช่นนี้น่าเชื่อว่าในขณะนั้นนายบุญลือก็เข้าใจว่าโจทก์หายสาบสูญจึงได้ไปขอร้องจำเลย พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมาจึงเจือสมกับข้อนำสืบของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่เคยไปมาหาสู่บ้านนายผัน เหตุที่จำเลยฟ้องนางอุดรเรียกทรัพย์มรดกของนายผันก็เนื่องจากนายบุญลือมาขอร้อง โดยอ้างว่าโจทก์ออกจากบ้านหายไปกว่า 10 ปีแล้ว ศาลฎีกาเชื่อว่าเหตุที่จำเลยฟ้องนางอุดรดังกล่าวก็โดยจำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ได้หายสาบสูญไป จำเลยซึ่งเป็นน้องต่างมารดาของนายผันจึงมีสิทธิได้รับมรดกของนายผันดังที่จำเลยนำสืบ จำเลยจึงมีสิทธิที่จะเรียกเอาเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเลยต้องออกไปตามความจำเป็นในการจัดการทรัพย์มรดกของนายผันได้โดยถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหลายอันควรแก่การรักษาทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 416 และมาตรา 1376 อันได้แก่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่นางอุดรเป็นค่าธรรมเนียมศาล และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด 7,000 บาท ค่าทนายความ 60,000 บาท และค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินพร้อมบ้านมรดกมาเป็นชื่อของจำเลย5,050 บาท สำหรับค่าทำศพนายผันที่จำเลยชดใช้ให้นางอุดรผู้จัดการมรดกจำนวน 20,000 บาท นั้น เห็นว่า เป็นค่าใช้จ่ายในการทำศพผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 และมาตรา 1739(2) จำเลยจึงมีสิทธิเรียกคืนจากโจทก์ได้เช่นกันรวมเป็นเงินค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 92,050 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายที่จำเลยให้นายบุญลือและค่าผลประโยชน์ของจำเลยนั้น จำเลยหามีสิทธิที่จะนำมาหักไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยขายทรัพย์มรดกของนายผันได้เงินมา 500,000 บาท หลังจากหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นในการจัดการทรัพย์มรดกดังกล่าวแล้ว จึงเหลือเงินที่จำเลยจะต้องคืนให้แก่โจทก์จำนวน 407,950 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าจำเลยกระทำไปเพื่อให้ได้ทรัพย์มรดกอันเป็นประโยชน์แก่จำเลยเองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้จ่ายจากโจทก์ได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงิน 407,950 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษา

Share