แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สำเนาภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ผู้อื่นลงชื่อเป็นผู้ให้เช่าซื้อแทน โดยมีเจ้าหน้าที่รับรองถึงความถูกต้องเพราะต้นฉบับได้มีการอ้างส่งไว้ในสำนวนคดีของศาล และจำเลยก็มิได้คัดค้านว่าสำเนาไม่ถูกต้อง กรณีนี้จึงไม่จำต้องใช้ต้นฉบับก็รับฟังได้ และหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป ไม่จำต้องระบุว่าจะให้ผู้รับมอบอำนาจทำสัญญากับผู้ใด สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่ทำขึ้นก็ไม่เป็นโมฆะ สัญญาเช่าซื้อมีข้อตกลงว่าในกรณีที่รถเสียหายทั้งสิ้น หรือถูกทำลายสิ้นเชิงหรือไม่สามารถซ่อมแซมดังเดิมได้ ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่ค้างทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อนั้น ข้อกำหนดดังกล่าวใช้บังคับได้ โดยมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากพฤติการณ์ปรากฏว่าสูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงได้ การฟ้องขอให้คืนทรัพย์ที่เช่าซื้อ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนนั้น เป็นการที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์คืนจึงมีอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ.มาตรา 164 มิใช่มีอายุความ6 เดือนหรือ 2 ปี ตามมาตรา 562,563 หรือ มาตรา 165(6).
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มอบอำนาจให้นายวิโรจน์ อรุณพันธ์ และหรือนายบรรเจิด เย็นมนัส เป็นผู้ฟ้องคดีแทน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ราคา 481,248 บาทชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด งวดละ 13,368 บาท จนกว่าจะครบ 36 งวดโดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันและยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียง 12 งวด ถึงงวดประจำวันที่ 19 ตุลาคม 2525 ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อประสบอุบัติเหตุถ้าจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าเสียหายแล้วจะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างทั้งหมดให้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิดแล้วแต่เพิกเฉยไม่ยอมชำระโจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสอง ขอให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ หากคืนไม่ได้ ให้ร่วมกันชดใช้ราคาเป็นเงิน 320,832 บาท แก่โจทก์ หากรถที่เช่าซื้อเสียหายไม่สามารถซ่อมแซมได้ จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 150,000 บาท และค่าเสียหายวันละ 400 บาท นับแต่วันฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์หรือผู้รับมอบอำนาจไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นคู่สัญญากับจำเลยที่ 1 หนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อผู้มีอำนาจของโจทก์ และไม่ใช่การมอบอำนาจให้มาทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 สัญญาเช่าซื้อตามฟ้องจึงเป็นโมฆะ รถยนต์ที่เช่าซื้อไปประสบอุบัติเหตุไม่อาจใช้การได้โดยการกระทำของบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์อีกต่อไป คดีของโจทก์ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายสูงมากเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันชำระเงิน 320,832 บาทให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระเฉพาะดอกเบี้ยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาแรกมีว่า สัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นโมฆะหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยทั้งสองฎีกาว่าหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นเพียงสำเนาภาพถ่ายและมิได้มีรอยตราของบริษัทโจทก์ประทับอยู่ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าบริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้อื่นลงชื่อเป็นคู่สัญญาแทนนั้น ได้ความว่าสำเนาภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นเอกสารที่โจทก์ขอคัดมาจากศาลแพ่ง โดยมีเจ้าหน้าที่รับรองถึงความถูกต้อง เพราะต้นฉบับได้มีการอ้างส่งไว้ในสำนวนคดีแพ่งดำที่1424/2527 สำเนาภาพถ่ายเอกสารดังกล่าวยังมีข้อความว่าต้นฉบับมีรอยตราดุลประทับอยู่แสดงว่าข้อความทั้งหมดรวมทั้งรอยตราประทับตามสำเนาภาพถ่ายดังกล่าวตรงกับต้นฉบับที่ได้ส่งไว้ในอีกคดีหนึ่งนอกจากนี้ยังได้ความว่าในขณะที่โจทก์ส่งเอกสารดังกล่าว จำเลยทั้งสองก็มิได้ค้านว่าสำเนาไม่ถูกต้องไม่ตรงกับต้นฉบับ แสดงว่าจำเลยทั้งสองรับถึงความถูกต้องว่าตรงกับต้นฉบับแล้ว เมื่อได้ความตามสำเนาภาพถ่าย หนังสือมอบอำนาจหมาย จ.4 ว่า ในการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาท บริษัทโจทก์ได้มอบอำนาจให้นางสาววีรวรรณ กิติทีฆกุลและนายวิโรจน์ อรุณพันธ์ ลงนามในสัญญาเช่าซื้อแทน กรณีจึงไม่จำต้องใช้ต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไป ไม่จำต้องมีข้อความระบุให้ผู้รับมอบอำนาจทำสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยทั้งสองหรือจะต้องให้บริษัทโจทก์เจ้าของทรัพย์เป็นผู้ลงนามด้วยตนเองเพราะกรณีนี้มอบหมายให้ทำแทนกันได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาว่าสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทไม่เป็นโมฆะชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่นั้นในข้อนี้จำเลยทั้งสองฎีกามีความว่า เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายอันเกิดจากขาดประโยชน์ในการใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับค่าเสียหายใด ๆ รวมทั้งค่าเช่าซื้อในส่วนที่ขาดอีกด้วยนั้นเห็นว่ากรณีทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายหรือถูกทำลาย สัญญาเช่าซื้อย่อมระงับไป ดังนั้นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาย่อมสิ้นสุดลงด้วยหากทรัพย์สินที่เช่าซื้อสูญหายหรือถูกทำลายไปมิได้เกิดจากความผิดของจำเลยผู้เช่าซื้อ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายที่โจทก์อาจนำรถไปแสวงหาประโยชน์ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมา แต่เมื่อสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 6 วรรคสาม ระบุว่าในกรณีที่รถนั้นเสียหายทั้งสิ้น…หรือถูกทำลายสิ้นเชิงหรือไม่สามารถซ่อมแซมดังเดิมได้ ผู้เช่าซื้อจะต้องชำระค่าเช่าซื้อส่วนที่ค้างทั้งหมดตามสัญญาเช่าซื้อทันที เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเกิดอุบัติเหตุเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้คือเสียหายโดยสิ้นเชิง และจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ไปบางส่วนแล้วยังคงขาดอยู่อีก 320,832 บาท ก็จะครบจำนวนตามสัญญาดังนั้นจำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าเช่าซื้อจำนวนส่วนที่ขาดอยู่ให้แก่โจทก์ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา ฎีกาจำเลยทั้งสองในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้นที่จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อนี้ต่อไปว่า ค่าเช่าซื้อส่วนที่ขาดจำนวนเงิน 320,832 บาท นั้นสูงเกินไป เห็นว่ารถยนต์พิพาทมีราคาเป็นเงินสด 540,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระเป็นเงินสด 190,000 บาทที่เหลือ 350,000 บาท จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อในราคา481,248 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ชำระให้โจทก์ไปบางส่วนแล้วหากไม่มีการผิดสัญญาโจทก์ก็ควรจะได้รับเงินอีก 320,832 บาท และในขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ก็ควรจะได้ประโยชน์จากการใช้รถด้วยเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดหรือเลิกกันโดยมิใช่ความผิดของฝ่ายใดโดยปกติแล้วคู่สัญญาก็ควรจะได้กลับคืนสู่ฐานะเดิม เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ได้ประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อ โจทก์ก็ไม่ควรได้รับเงินค่าเช่าซื้อในส่วนที่ยังขาดอยู่ตอบแทนด้วย แต่สำหรับกรณีนี้มีสัญญากำหนดให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรับผิดใช้เงินจำนวนค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ารถยนต์พิพาทมีราคาเป็นเงินสด 540,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระแล้ว190,000 บาท คงค้างอยู่ 350,000 บาท แต่ทำสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโจทก์ควรได้ดอกเบี้ย 1 ใน 3 ส่วนของจำนวนดอกเบี้ยทั้งหมดจากนายวิโรจน์ อรุณพันธ์ พยานโจทก์ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยล่วงหน้าไว้ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี เป็นเวลา 3 ปี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าหลังจากทำสัญญาเช่าซื้อได้ 12 งวด หรือ 1 ใน 3 ของระยะเวลาจะต้องปฏิบัติตามสัญญา สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโจทก์ควรได้ดอกเบี้ย1 ใน 3 ส่วนของจำนวนดอกเบี้ยทั้งหมดที่ควรจะได้เท่านั้นเมื่อพิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วเห็นสมควรลดค่าดอกเบี้ยจากจำนวน 1 แสนบาทคงเหลือ 66,000 บาท เมื่อนำไปหักกับจำนวนค่าเช่าซื้อที่ยังขาดอยู่ 320,832 บาท ตามสัญญาแล้วคงเหลือเป็นค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิด 254,832 บาท ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้บางส่วนฟังขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่าตามฟ้องของโจทก์เป็นกรณีขอให้จำเลยทั้งสองคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อหรือหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาค่าเช่าซื้อในส่วนที่ยังขาดอยู่ เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดอายุความเรื่องนี้ไว้โดยตรง จึงไม่ตกอยู่ในบังคับอายุความ 6 เดือนหรือ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 562, 563 หรือมาตรา 165(6)ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาเพราะโจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในค่าเสียหายเกี่ยวกับทรัพย์ที่เช่าซื้อชำรุดเสียหายหรือค่าเช่าที่ค้างชำระ แต่เป็นกรณีที่เจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืน จึงอยู่ในอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 เมื่อสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 8พฤศจิกายน 2525 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2529ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยในข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน256,248 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.