แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปลากระป๋องของกลางมีพยาธิอนิซาดิสลาแวซึ่งเป็นพยาธิเจือปนอยู่ในปลากระป๋อง ย่อมเป็นข้อแสดงโดยแจ้งชัดว่าปลาที่ใช้ทำเป็นอาหารกระป๋องนั้นผลิตจากปลาที่เป็นโรคมีพยาธิ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจติดต่อถึงผู้บริโภคได้เจือปนอยู่ในอาหารกระป๋องนั้นด้วย แม้ตัวพยาธิในกระป๋องจะได้ตายไม่อาจทำให้เกิดอันตรายและติดต่อถึงคนได้ก็ตาม แต่ปลาที่ใช้ผลิตเป็นอาหารกระป๋องนั้นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอาหารที่ผลิตจากสัตว์ที่เป็นโรคพยาธิ อันอาจติดต่อถึงคนและเจือปนอยู่ในอาหารนั้น ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามที่ได้กำหนดไว้โดยกฎหมายอย่างชัดแจ้งแล้ว จำเลยไม่อาจยกเอาเหตุอันเกิดจากโรคพยาธิหมดสภาพเพราะการตายว่าเป็นอาหารที่บริสุทธิ์มาเป็นข้ออ้างเพื่อปัดความรับผิดนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1), 26, 58 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 33 และให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1), 26, 58 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 33 ปรับคนละ 10,000 บาท ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อาหารไม่บริสุทธิ์ที่จะเข้าข้อห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) นั้น ได้มีบทบัญญัติความหมายของอาหารที่ไม่บริสุทธิ์ไว้ในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันนี้ได้มีข้อกำหนดจำแนกอาหารไว้หลายลักษณะต่าง ๆ กัน เป็นต้นว่าอาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอาหารที่ผลิตจากสัตว์ที่เป็นโรคอันอาจติดต่อถึงคน ดังที่ระบุความตาม (1) และ (4) ในบทมาตราดังกล่าว ซึ่งเป็นปัญหาตามข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองพิเคราะห์แล้ว เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่าในปลากระป๋องของกลาง มีพยาธิอนิซาดิสลาแวซึ่งเป็นพยาธิเจือปนอยู่ในปลากระป๋อง ย่อมเป็นข้อแสดงโดยแจ้งชัดว่าปลาที่ใช้ทำเป็นอาหารกระป๋องนั้นผลิตจากปลาที่เป็นโรคพยาธิ ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพและอาจติดต่อถึงผู้บริโภคได้เจือปนอยู่ในอาหารกระป๋องนั้นด้วย แม้ตัวพยาธิในอาหารกระป๋องจะได้ตายไม่อาจทำให้เกิดอันตรายและติดต่อถึงคนได้ก็ตาม แต่ศาลฎีกาเห็นว่าปลาที่ใช้ผลิตเป็นอาหารกระป๋องนั้นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นอาหารที่ผลิตจากสัตว์ที่เป็นโรคพยาธิ อันอาจติดต่อถึงคนและเจือปนอยู่ในอาหารนั้น ถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามที่ได้กำหนดไว้โดยกฎหมายอย่างชัดแจ้งแล้ว จำเลยไม่อาจยกเอาเหตุอันเกิดจากโรคพยาธิหมดสภาพเพราะการตายว่าเป็นอาหารที่บริสุทธิ์มาเป็นข้ออ้างเพื่อปัดความรับผิดนั้น
พิพากษายืน