แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497บัญญัติไว้โดยเด็ดขาดให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรา 9 เมื่อพระราช-กฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงบางซื่อ – แขวงลาดยาว พ.ศ. 2517 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกานี้ดังนั้น กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องแจ้งให้สำนักงานที่ดินกรุงเทพ-มหานครทราบตามมาตรา 9 ค. เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้แจ้ง จึงเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย หากจำเลยที่ 1 ไม่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินเมื่อโจทก์มาจดทะเบียนการซื้อขาย เจ้าพนักงานที่ดินก็จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบว่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารพิพาทจะต้องถูกเวนคืน โจทก์ก็คงจะไม่ซื้อที่ดินและอาคารพิพาท การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยที่ 1ดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงก่อให้บังเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
การที่จำเลยที่ 2 ไม่แจ้งให้บริษัท ธ.ทราบ เป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ธ. หากมีความเสียหายเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องที่บริษัท ธ.จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 2 ส่วนโจทก์ซึ่งรับโอนอาคารพิพาทจากบริษัท ธ. ตามสัญญาซื้อขายอีกต่อหนึ่งนั้น โจทก์หาได้มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ไม่ ความเสียหายที่โจทก์ได้รับเพราะที่ดินถูกเวนคืนและอาคารพิพาทถูกรื้อ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิได้ทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าครอบครองและรื้อถอนอาคารพิพาทเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2529 ถือได้ว่ามูลละเมิดเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่กล่าวนี้เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530 ยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่มูลละเมิดเกิดขึ้น คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ