คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3726/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ตามสัญญากู้ระบุเอาบ้านพิพาทเป็นประกันต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระหนี้จึงตกลงจะไปจดทะเบียนโอนบ้านพิพาทแก่โจทก์แต่จำเลยที่ 1 กลับทำสัญญาซื้อขายจดทะเบียนโอนบ้านพิพาทแก่จำเลยที่ 2 นิติกรรมดังกล่าวจำเลยที่ 1 กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ และจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต ดังนี้ โจทก์ย่อมฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
เจ้าหนี้ผู้ที่จะเป็นโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลไม่จำต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ 30,000 บาท นำบ้านเลขที่61/24 มอบไว้เป็นประกันเงินกู้ หลังจากกู้เงินไปจำเลยที่ 1ไม่เคยชำระดอกเบี้ยโจทก์ติดต่อให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยมิฉะนั้นจะฟ้องให้ชำระหนี้ ครั้นวันที่ 30 มีนาคม 2526 จำเลยที่1 ได้โอนบ้านที่วางประกันไว้แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 20,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 รู้ดีว่าจำเลยที่ 1 นำบ้านหลังดังกล่าวเป็นหลักประกันการกู้เงินจากโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายบ้านพิพาทและโอนบ้านให้จำเลยที่ 1 ภายใน 30 วันนับแต่วันมีคำพิพากษา หากเพิกเฉยก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายบ้าน ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้โอนบ้านดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1ภายใน 30 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.5 จำนวน 30,000 บาทจริง
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ทั้งๆ ที่หนี้เงินกู้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ และในการที่โจทก์จะบังคับคดีได้นั้น สิทธิเรียกร้องในบ้านพิพาทของโจทก์จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ และศาลได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่โจทก์โจทก์จึงจะมีสิทธิบังคับคดีในบ้านพิพาทหรือทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่าคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับคดีเอาแก่บ้านพิพาทแต่ประการใด แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการฉ้อฉลโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ เจ้าหนี้ผู้ขอเพิกถอนการฉ้อฉลไม่จำต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด ฉะนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลรายนี้ได้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 อีกว่า สัญญาซื้อขายบ้านพิพาทเป็นนิติกรรมอันจำเลยที่ 1 ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบหรือไม่ เห็นว่านายกรุ่นพยานโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์และจำเลยทั้งสองเช่าที่ดินปลูกบ้านอยู่ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายใด นับว่าเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความของนายกรุ่นจึงมีน้ำหนักเชื่อถือรับฟังได้ การที่ไม่มีประกาศขายบ้านพิพาทปิดอยู่ที่บ้านพิพาทก็ดี เวลานายกรุ่นสอบถามเรื่องไถ่บ้านพิพาทเมื่อจำเลยทั้งสองไปขอให้นายกรุ่นลงชื่อให้ความยินยอมก็ดี แสดงว่าจำเลยที่ 2 ต้องทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์และเอาบ้านพิพาทเป็นประกันไว้ มิฉะนั้นย่อมมีประกาศขายบ้านพิพาทปิดไว้ที่บ้านพิพาทตามระเบียบซึ่งคนบ้านใกล้เรือนเคียงและโจทก์ย่อมทราบว่ามีการขายบ้านพิพาทก่อนที่จำเลยทั้งสองจะไปทำการโอนกัน โจทก์อาจไปคัดค้านได้ทันแต่จำเลยทั้งสองคงมีความประสงค์ที่จะปกปิดการซื้อขายบ้านพิพาทจึงมิได้นำประกาศไปปิดไว้และในวันที่นายกรุ่นถามเรื่องไถ่บ้านพิพาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ทราบเรื่องมาก่อนจริงจำเลยที่ 2 ก็น่าที่จะไปสอบถามโจทก์ให้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 1ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้วจริงหรือไม่ จากพฤติการณ์ดังกล่าวมาเชื่อได้ว่าสัญญาซื้อขายบ้านพิพาทเป็นนิติกรรมอันจำเลยที่ 1 ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ และจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต โจทก์ย่อมฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
พิพากษายืน.

Share