แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เหตุละเมิดคดีนี้ศาลแขวงสงขลาได้มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลยที่ 2 ในข้อหาว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแม้กรณีจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ให้ศาลที่พิจารณาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1นายจ้าง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่มิได้ถูกฟ้องคดีอาญานั้นด้วย จำเลยที่ 1 ยังอาจยกข้อต่อสู้และนำสืบในคดีนี้ได้ว่าจำเลยที่ 2มิได้เป็นฝ่ายทำละเมิดต่อโจทก์หากแต่โจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเองหรือมีส่วนประมาทร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยขออ้างเอาคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1มาให้ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง แต่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยชัดแจ้งว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายไม่ถูกต้องอย่างไรหรือวินิจฉัยอย่างไรจึงจะถูกต้อง กลับมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บที่เปลือกตาบนด้านซ้ายมือมีอาการบวมของประสาทตาส่วนกลางและมีเลือดออก ทำให้ประสาทตาส่วนกลางเสื่อมสมรรถภาพลง ต้องได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ตลอดชีวิตเนื่องจากอาจเกิดอาการแทรกซ้อนในภายหลัง โจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฉีกขาดที่นิ้วหัวแม่มือด้านขวา เอ็นและเส้นประสาทที่นิ้วหัวแม่มือขาดแพทย์ได้ทำการผ่าตัดต่อเส้นเอ็นได้แต่ต่อเส้นประสาทไม่ได้เพราะขนาดเล็กมาก หลังผ่าตัดแล้วนิ้วหัวแม่มือของโจทก์ที่ 2 งอติดกับข้อกางได้เพียง 60 องศา ซึ่งการที่โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บดังกล่าว โจทก์ทั้งสองเป็นจักษุแพทย์ไม่สามารถทำงานละเอียดเช่นการผ่าตัดประสาทหูชั้นในและเยื่อฟังผืดใกล้จอประสาทตาได้ ดังนั้นโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกอบการงานในปัจจุบันและอนาคตได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองรับราชการเป็นนายแพทย์และอาจารย์ระดับ 5 ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโจทก์ทั้งสองเปิดคลีนิกส่วนตัวที่จังหวัดสงขลารับรักษาเกี่ยวกับโรคจักษุโสต จำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ขับรถส่งวัสดุก่อสร้าง รถที่จำเลยที่ 2 ขับเป็นรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-1831 สงขลาซึ่งจำเลยที่ 1 เช่าซื้อมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลมอเตอร์เซลส์โจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์ยี่ห้อดัทสันบลูเบิร์ดหมายเลขทะเบียน ก.5069สงขลา ไปตามถนนกาจนวณิชย์ โดยมีโจทก์ที่ 2 นั่งอยู่ที่ตอนหน้าด้านซ้ายของคนขับจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้อฮีโน่หมายเลขทะเบียน 80-1831 สงขลา ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ทั้งสอง ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย คือค่าซ่อมแซมรถยนต์ดัทสันบลูเบิร์ดหมายเลขทะเบียน ก.5069 สงขลา ของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน166,693 บาท ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 จำนวน 2,698 บาท และค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ที่ 2 จำนวน 7,767 บาท ระหว่างที่โจทก์ทั้งสองพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน ทำให้โจทก์ทั้งสองขาดรายได้จากการประกอบธุรกิจส่วนตัวในคลีนิกของโจทก์ทั้งสองเฉลี่ยคนละ 50,000 บาท ต่อเดือนรวมเป็นเงิน 100,000 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสองได้รับการรักษาพยาบาลแล้วปรากฏว่าประสาทข้างซ้ายของโจทก์ที่ 1 เสื่อม ทำให้สายตามัว ไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งต้องใช้สายตาในการผ่าตัดโดยกล้องจุลทรรศน์ทำได้ไม่ดี และไม่สมบูรณ์เหมือนเดิมสำหรับโจทก์ที่ 2 เอ็นนิ้วหัวแม่มือขวาและเส้นประสาทที่มาเลี้ยงรับความรู้สึกขาด เมื่อได้ทำการผ่าตัดรักษาแล้วยังใช้มือในการผ่าตัดที่ละเอียดไม่ได้สมบูรณ์เท่าเดิม ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการขับรถประมาทของจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายแก่กายและอนามัย ต้องเสียความสามารถประกอบการงานบางส่วนในเวลาปัจจุบันและอนาคต โจทก์ทั้งสองขอเรียกค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 722,842 บาท ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าซ่อมรถของโจทก์ที่ 1 จำนวน 166,693 บาท ค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1 จำนวน 2,698 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 7,767 บาท ค่าขาดรายได้ของโจทก์ทั้งสองจำนวน 100,000 บาท ค่าเสียหายเพื่อการเสียความสามารถประกอบการงานแต่บางส่วนในเวลาปัจจุบันและในอนาคตเป็นเงิน 722,842 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เหตุคดีนี้เกิดจากความผิดของโจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก.5069 สงขลา โดยประมาทค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเรียกมาสูงเกินความเป็นจริง อะไหล่บางอย่างน่าจะเป็นเรื่องที่เสียอยู่ก่อนแล้ว กับการเปลี่ยนอะไหล่นั้นน่าจะซ่อมได้อีก ค่าซ่อมคิดไม่เกิน 30,000 บาท โจทก์ที่ 1 มิได้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลและโจทก์ที่ 2 นอกพักรักษาตัวไม่เกิน7 วัน ค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 1,000 บาท และของโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน 2,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เฉพาะโจทก์ที่ 1 หลังจากแพทย์ได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วก็สามารถกลับไปพักที่บ้านได้ และสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ และโจทก์ทั้งสองมิได้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลถึง1 เดือน โจทก์ทั้งสองขาดรายได้รวมกันไม่เกิน 5,000 บาทโจทก์ทั้งสองไม่ได้เสียความสามารถประกอบการงานบางส่วนในเวลาปัจจุบันและอนาคต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน206,898 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และ 116,767 บาท แก่โจทก์ที่ 2โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหาย 373,591 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และ 216,767 บาท แก่โจทก์ที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุละเมิดคดีนี้ศาลแขวงสงขลาได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1785/2531 ให้จำคุกจำเลยที่ 2 ในข้อหาว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสมีกำหนด 7 เดือน คดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแม้กรณีจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46ให้ศาลพิจารณาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาโดยต้องฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้กระทำละเมิดขับรถยนต์โดยประมาทก็ตาม คำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้ถูกฟ้องคดีอาญานั้นด้วยจำเลยที่ 1 ยังอาจยกข้อต่อสู้และนำสืบในคดีนี้ได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้เป็นฝ่ายทำละเมิดต่อโจทก์หากแต่โจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเองหรือมีส่วนประมาทร่วมกับจำเลยที่ 2 ด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นเกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 ขับรถโดยประมาทด้วย มิใช่จำเลยที่ 2 ประมาทฝ่ายเดียวจำเลยที่ 1 ฎีกาเพียงว่าหากพิจารณาตามสภาพรถ ประเภทรถและกำลังแรงม้าของรถโจทก์ที่ 1ประกอบกับลักษณะลาดชันของถนนแล้วความเร็วที่โจทก์ขับขี่ต้องเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอย่างแน่นอน ในประเด็นข้อนี้จำเลยที่ 1ขออ้างเอาคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 มาให้ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยอีกครั้งหนึ่ง แต่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยชัดแจ้งว่า ในข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายไม่ถูกต้องอย่างไรหรือวินิจฉัยอย่างไรจึงจะถูกต้องกลับมาให้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้มาด้วยหาชอบไม่ ฉะนั้นศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาที่จะวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 คือเรื่องค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าเสียหายเรื่องค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ค่าเสียหายที่เสียความสามารถประกอบการงานในปัจจุบันและอนาคตของโจทก์ทั้งสอง และค่าขาดรายได้ของโจทก์ทั้งสองมานั้นสูงเกินความเป็นจริง ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว เห็นว่าในเรื่องค่าซ่อมรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 นี้ แม้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จะได้รับความเสียหายมากตามภาพถ่ายหมายจ.1 และ จ.2 แต่ความเสียหายส่วนใหญ่ปรากฏที่ด้านหน้ารถและเครื่องยนต์เท่านั้น ทางด้านท้ายรถและภายในตัวรถไม่ได้รับความเสียหาย สภาพความเสียหายของรถยนต์โจทก์ที่ 1 สามารถซ่อมแซมเฉพาะส่วนที่เสียหายให้กลับคืนดีได้แต่ปรากฏตามรายการซ่อมรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 เอกสารหมาย จ.8 โจทก์ที่ 1 เปลี่ยนพวงมาลัย แผงหน้าปัดพร้อมอุปกรณ์เรือนไมล์ ยางคันเกียร์ มือหมุนกระจก ดัดโครงเบาะนั่งและเปลี่ยนผ้าหุ้มเบาะ ในลักษณะที่ทำนอกเหนือจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเพื่อประโยชน์ของโจทก์ที่ 1 เอง ทั้งการเคาะพ่นสีก็ไม่จำต้องถอดชิ้นส่วนตัวถังรถยนต์ออกมาพ่นสีเป็นรายชิ้นให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ดังนั้น จึงสมควรหักเงินค่าซ่อมแซมรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ในส่วนที่ไม่ได้เสียหายจริงออกไปเงิน 20,300 บาทและกำหนดค่าเคาะพ่นสีรถยนต์รวมค่าแรงให้โจทก์ที่ 1 เพียง 30,000 บาท รวมเป็นค่าซ่อมแซมรถยนต์ที่โจทก์ที่ 1 ได้รับเป็นเงิน 132,843 บาท ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองเสียความสามารถในการประกอบการงานในปัจจุบันและอนาคตนี้ โจทก์ทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บที่เปลือกตาบนด้านซ้ายมีอาการบวมของประสาทตาส่วนกลางและมีเลือดออก ทำให้ประสาทตาส่วนกลางเสื่อมสมรรถภาพลงต้องได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ตลอดชีวิตเนื่องจากอาจเกิดอาการแทรกซ้อนในภายหลัง กับโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลฉีกขาดที่นิ้วหัวแม่มือด้านขวา เอ็นและเส้นประสาทที่นิ้วหัวแม่มือขาดแพทย์ได้ทำการผ่าตัดต่อเส้นเอ็นได้แต่ต่อเส้นประสาทไม่ได้เพราะขนาดเล็กมาก หลังผ่าตัดแล้วนิ้วหัวแม่มือของโจทก์ที่ 2 งอติดกับข้อกางได้เพียง 60 องศา ซึ่งการที่โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บดังกล่าว โจทก์ทั้งสองเป็นจักษุแพทย์ไม่สามารถทำงานละเอียดเช่นการผ่าตัดประสาทหูชั้นในและเยื่อพังผืดใกล้จอประสาทตาได้ ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบหักล้างจึงรับฟังเป็นความจริง ดังนั้นโจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่ไม่สามารถประกอบการงานในปัจจุบันและอนาคตได้แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ทั้งสองเพียงแต่ขาดความสามารถเฉพาะในงานส่วนละเอียดบางอย่างเท่านั้น และค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นการประกอบการงานพิเศษโดยการตั้งคลีนิก รักษาคนไข้นอกเหนือจากงานราชการที่โจทก์ทั้งสองทำอยู่ การประกอบการงานส่วนใหญ่โจทก์ทั้งสองยังทำได้ตามปกติ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าเสียหายในการที่โจทก์ทั้งสองเสียความสามารถในการประกอบการงานเป็นเงินคนละ 200,000 บาท จึงสูงเกินไป เห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ทั้งสองคนละ 120,000 บาท สำหรับค่าขาดรายได้ จากพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบมา ได้ความว่าหลังเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 ลาป่วยเพียง 14 วัน เมื่อโจทก์ที่ 1 ออกจากโรงพยาบาลได้พักผ่อนอยู่ที่บ้านและปิดคลินิกเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อรอโจทก์ที่ 2 ซึ่งรักษาบาดแผลที่นิ้วหัวแม่มือที่ยังไม่หาย กรณีจึงน่าเชื่อว่า โจทก์ที่ 1 ใช้เวลารักษาตัวเป็นปกติเพียง 14 วัน เท่านั้น ส่วนโจทก์ที่ 2 ต้องผ่าตัดนิ้วหัวแม่มือ การที่บาดแผลผ่าตัดจะหายสนิทสามารถทำการงานได้ตามปกติคงใช้เวลาเป็นเดือนจึงสมควรให้โจทก์ที่ 1 ได้ค่าขาดรายได้มีกำหนด 14 วัน และโจทก์ที่ 2 มีกำหนด30 วัน โดยให้คนละ 300 บาท ต่อวันตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้ไว้อันเป็นการเหมาะสมพอแก่ความเสียหายของโจทก์ทั้งสองในส่วนนี้ ดังนั้นค่าขาดรายได้ของโจทก์ที่ 1 รวม 14 วัน เป็นเงิน4,200 บาท โจทก์ที่ 2 รวม 30 วันเป็นเงิน 9,000 บาท ค่าเสียหายดังกล่าวเมื่อรวมกับค่ารักษาพยาบาลตามที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ตามฟ้องแล้วเป็นค่าเสียหายสำหรับโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 259,741 บาทโจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 136,767 บาท ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นเป็นบางส่วน จำนวนค่าเสียหายดังกล่าวเกี่ยวด้วยหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1), 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 259,741 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน136,767 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3