คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

น้าของเจ้ามรดกเป็นทายาทของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1629(6) อยู่แล้ว แม้จะตายไปก่อนเจ้ามรดก ผู้สืบสันดานของเขา ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ตามมาตรา 1639 โดยตรง
การที่จำเลยไปร้องขอต่อศาลให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนั้น จำเลยได้ปกปิดความจริงอันควรบอกให้ชัดแจ้งว่าทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ยังคงมีตัวอยู่ถึง 3 คนแสดงความไม่สุจริตของจำเลยมาตั้งแต่ต้น และเมื่อได้รับตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยก็ไม่ปรารถนาที่จะทำบัญชีทรัพย์มรดกตามหน้าที่ที่กฎหมายบังคับไว้ในมาตรา 1728,1729 ซ้ำในชั้นศาล ในคดีนี้ จำเลยก็ยังคงยืนยันว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมที่จะได้รับมรดกย่อมเป็นการสมควรทุกประการที่ศาลจะถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสียตามมาตรา 1731
คดีที่ทายาทเรียกร้องเอาทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ตกทอดแก่ตน โดยขอให้ถอดถอนผู้จัดการมรดกเสียก่อนโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิในกองมรดกที่จะยึดถือทรัพย์สินอันเป็นมรดกนั้นไว้อย่างไรได้แม้จำเลยจะยังคงเป็นผู้จัดการมรดกอยู่จำเลยก็ต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยลักษณะตัวแทนตัวการ จำเลยจะยกฐานะผู้จัดการมรดกมาต่อสู้อายุความกับทายาทตามมาตรา 1754,1755 หาได้ไม่
คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ผู้จัดการมรดกจะยกอายุความขึ้นต่อสู้ทายาทได้ก็แต่มาตรา 1733 วรรคสอง ซึ่งมีกำหนด 5 ปี นับแต่การจัดการมรดกสุดสิ้นลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลแสดงว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมรับมรดกของนางสาวอุไรผู้ตายตามกฎหมาย และให้ถอนอำนาจจัดการมรดกของนางสาวอุไรจากจำเลยและให้จำเลยส่งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องแก่โจทก์ ถ้าไม่สามารถ ก็ให้ใช้ราคา 14,700 บาท จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ใช่ทายาทโดยธรรม และไม่มีสิทธิรับมรดกของนางสาวอุไรจำเลยมิได้กระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดก และมิได้ปิดบังทรัพย์มรดกของนางสาวอุไรไว้เพราะทรัพย์ดังกล่าวไม่มีอยู่ที่จำเลย ที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเจตนาแกล้งไม่ให้โจทก์ได้รับมรดกนั้น ความจริงจำเลยเป็นแต่เพียงไปร้องขอให้พนักงานอัยการร้องแทนจำเลยต่อศาลขอตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น และตัดฟ้องว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ วันชี้สองสถานโจทก์รับว่าบัญชีเครือญาติท้ายฟ้องถูกต้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์เป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิได้รับมรดกของนางสาวอุไรตามกฎหมาย ให้ถอนจำเลยออกจากผู้จัดการมรดกของนางสาวอุไร ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้จำเลยส่งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องให้โจทก์ ถ้าส่งไม่ได้ก็ให้ใช้ราคา

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

(1) จำเลยฎีกาว่า การรับมรดกของนายเถียรซึ่งเป็นน้าของเจ้ามรดกจะมีสิทธิได้ก็ต้องเป็นขณะที่นายเถียรมีชีวิตอยู่ขณะเมื่อเจ้ามรดกตาย แต่นายเถียรได้ตายไปก่อนเจ้ามรดก โจทก์ซึ่งเป็นบุตรนายเถียรก็ไม่มีทางจะเข้ารับมรดกแทนที่นายเถียรได้นั้น เห็นว่าฟังไม่ได้เพราะนายเถียรก็เป็นทายาทของเจ้ามรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629(6) อยู่แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของนายเถียรย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1639 โดยตรง

(2) การที่จำเลยไปร้องขอต่อศาลให้ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนั้น จำเลยก็ได้ปกปิดความจริง อันควรบอกแจ้งว่าทายาทโดยธรรมของผู้ตายยังคงมีตัวอยู่ถึง3 คน แสดงความไม่สุจริตของจำเลยมาตั้งแต่ต้น และเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยก็ไม่ปรารถนาที่จะทำบัญชีทรัพย์มรดกตามหน้าที่ที่กฎหมายบังคับไว้ในมาตรา 1728, 1729 ซ้ำในชั้นศาลคดีนี้ จำเลยก็คงยืนยันว่า โจทก์ไม่ใช่ทายาทโดยธรรมที่จะได้รับมรดก ย่อมเป็นการสมควรทุกประการที่ศาลจะถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกเสียตามมาตรา 1731

(3) เรื่องอายุความ คดีเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทายาทจะเรียกร้องเอาทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ตกทอดแก่ตน โดยขอให้ถอดถอนผู้จัดการมรดกเสียก่อน แต่ถึงอย่างไรก็ดี จำเลยก็เป็นผู้ไม่มีสิทธิในกองมรดกที่จะยึดถือทรัพย์สิน อันเป็นมรดกนั้นไว้อย่างไรได้ แม้จำเลยจะยังคงเป็นผู้จัดการมรดกอยู่ จำเลยก็ต้องรับผิดต่อทายาทตามมาตรา 1720 โดยลักษณะตัวแทนตัวการ จำเลยจะยกฐานะผู้จัดการมรดกมาต่อสู้กับทายาทตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1754, 1755 ที่จำเลยอ้างหาได้ไม่คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดก ผู้จัดการมรดกจะยกอายุความขึ้นต่อสู้ทายาทได้ก็แต่ตามมาตรา 1733 วรรค 2 ซึ่งมีกำหนด 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ซึ่งในกรณีนี้ อายุความยังหาได้ตั้งต้นนับไม่

พิพากษายืน

Share