คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3708/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน ตอนท้ายระบุว่า “ยกเว้นแต่จะได้เลิกจ้างก่อนกำหนด” ซึ่งทำได้ในกรณีโจทก์ทำผิดกฎข้อบังคับการทำงาน ข้อความนี้มิได้ทำให้สัญญานี้เป็นสัญญาที่มิได้กำหนดเวลาการจ้างไว้แน่นอน

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนหรือไม่

พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ได้เข้าเป็นพนักงานของจำเลยเมื่อเดือนกันยายน 2523 สัญญาจ้างที่โจทก์จำเลยทำมี 3 ฉบับ ฉบับแรกเริ่มวันที่ 1 กันยายน 2523 มีอายุสัญญา 6 เดือน เมื่อสัญญาฉบับแรกหมดอายุลงแล้ว ได้ทำสัญญาฉบับที่ 2 (เอกสารหมาย ล.2) มีอายุสัญญา 3 เดือน เริ่มวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2524 ถึง 30 เมษายน 2524 เมื่อสัญญาฉบับที่ 2 หมดอายุแล้วได้ทำสัญญาใหม่อีกคือสัญญาฉบับที่ 3 (เอกสารหมาย ล.3) มีอายุสัญญา 2 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2524 ถึง 30 มิถุนายน 2524 ดังนี้เป็นที่เห็นได้ว่า ได้มีการตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน มีเจตนาให้สัญญาจ้างมีผลผูกพันกันภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนความของสัญญาข้อ 1 ตอนท้ายที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างฉบับที่ 2 และ 3 (เอกสารหมาย ล.2 และ ล.3) ที่ว่า “ยกเว้นแต่จะได้เลิกจ้างก่อน” นั้น ข้อยกเว้นเช่นนี้มิได้หมายความว่าจำเลยมีสิทธิบอกเลิกจ้างโจทก์เสียเมื่อใดก็ได้ตามใจชอบ ในการระบุข้อยกเว้นไว้ดังกล่าว ก็เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่จำเลย ถ้าหากลูกจ้างคนหนึ่งคนใดรวมทั้งโจทก์กระทำผิดกฎและข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน จำเลยก็มีสิทธิที่จะบอกเลิกจ้างได้ก่อนครบกำหนด ดังจะเห็นได้จากข้อสัญญาต่อไป ข้อ 4.2 ระบุไว้ว่า “นายสร้อย สะสันเทียะจะต้องปฏิบัติตามกฎและข้อบังคับของบริษัทธีรพัฒน์ จำกัด อย่างเคร่งครัด และในกรณีที่ทำผิดกฎข้อบังคับข้อหนึ่งข้อใด สัญญานี้จะถูกยกเลิก โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยให้” เหตุที่กำหนดไว้ดังนี้ ก็เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดขึ้นเกี่ยวกับการทำงานของลูกจ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของการทำงานจะต้องมีระเบียบข้อบังคับการทำงาน เพื่อควบคุมให้การทำงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยเฉพาะงานรักษาความปลอดภัยจำต้องปฏิบัติมิให้เกิดความบกพร่องขึ้นได้ หาใช่ว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุเสียเมื่อใดก็ได้ไม่และตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญาจ้างแต่ประการใด ฉะนั้นเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาในวันที่ 30 มิถุนายน 2524 จำเลยไม่ว่าจ้างโจทก์ต่อไปโดยเลิกจ้าง เช่นนี้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 วรรคท้าย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์”

พิพากษายืน

Share