คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3702/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสลักหลังในฐานะผู้รับอาวัลเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติความรับผิดไว้เป็นกรณีพิเศษ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 940 มิใช่เป็นการสลักหลังโดยทั่วๆ ไป ย่อมมีผลผูกพันที่จะต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้สั่งจ่ายซึ่งตนเข้ารับประกันจึงไม่อาจอ้างระยะเวลาตาม มาตรา 990 มาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็ค 20,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “คดีคงมีปัญหาในชั้นนี้เฉพาะข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้สลักหลังในฐานะผู้รับประกันการใช้เงิน (อาวัล) ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองว่า การที่โจทก์ในฐานะผู้ทรงมิได้เรียกเก็บเงินภายในระยะ 1 เดือนที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 990นั้น โจทก์ย่อมสิ้นสิทธิในการไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยในฐานะผู้สลักหลังเพราะกฎหมายมาตรานี้ใช้คำว่าผู้สลักหลังเท่านั้นมิได้แยกเฉพาะเจาะจงลงไปว่าเป็นผู้สลักหลังในฐานะอะไร ฉะนั้น จึงควรแปลเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าหากเป็นผู้สลักหลังแล้วไม่ว่าอยู่ในฐานะอะไรย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเหมือนกันหมด

พิเคราะห์ข้อกฎหมายตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาแล้วเห็นว่าการสลักหลังเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น มีอยู่หลายกรณีด้วยกัน การที่จำเลยที่ 2ยอมตัวเข้าผูกพันรับผิดประกันการชำระเงินตามเช็คของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 921 นั้น ย่อมมีผลผูกพันตามมาตรา 940 ทำให้จำเลยที่ 2 อยู่ในฐานะที่ 1 จะต้องรับผิดเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 1ซึ่งตนเข้ารับประกัน ฉะนั้นการสลักหลังของจำเลยที่ 2 ในกรณีเช่นนี้จึงมิใช่เป็นการสลักหลังโดยทั่ว ๆ ไปตามนัยแห่งมาตรา 990 แต่เป็นการกระทำที่แสดงออกในฐานะผู้รับประกัน (อาวัล) ตามที่กฎหมายบัญญัติความรับผิดไว้เป็นกรณีพิเศษตามมาตรา 940 ดังกล่าวแล้ว ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจอ้างระยะเวลาตามมาตรา 990มาเป็นเหตุเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share