คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 370/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยเช่าที่ดินบริเวณสวนลุมพินีกับเทศบาลนครกรุงเทพโจทก์คราวละ 1 ปีนั้น เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ หากเช่าเกินกว่า 1 ปี ต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยก่อน เช่นนี้เป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่ากระทรวงมหาดไทยให้โจทก์มีอำนาจให้เช่าที่พิพาทได้คราวละ 1 ปี โจทก์จึงมีสิทธิให้จำเลยเช่าที่พิพาทได้เมื่อโจทก์มีสิทธิให้เช่าแล้วโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้เช่าตามสัญญาได้
เดิมเทศบาลนครกรุงเทพเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย แต่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 25 ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2514 ให้รวมเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรี จัดตั้งเป็นเทศบาลนครหลวง ประกาศของคณะปฏิวัติมีสภาพเป็นกฎหมายและตามประกาศฉบับนี้ข้อ 6 ให้เทศบาลนครหลวงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเทศบาลตามกฎหมายว่าด้วยเทศบาล และข้อ 13 ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล กฏกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งเกี่ยวกับเทศบาลมาใช้บังคับแก่เทศบาลนครหลวงโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับประกาศของ คณะปฏิวัติฉบับนี้ และคำว่าเทศบาลในกฎหมายดังกล่าวให้หมายรวมถึงเทศบาลนครหลวงด้วย เช่นนี้ตามข้อบัญญัติแห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวย่อมแปลได้ว่าเทศบาลนครหลวงเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 เมื่อรวมเทศบาลกรุงเทพ เทศบาลธนบุรี เป็นเทศบาลนครหลวงแล้วสิทธิและหน้าที่ของเทศบาลนครกรุงเทพที่ได้ทำไว้แต่เดิมจึงเปลี่ยนมาเป็นของเทศบาลนครหลวง เทศบาลนครหลวงจึงมีสิทธิดำเนินคดีต่อจากเทศบาลนครกรุงเทพได้ อนึ่ง ปรากฏต่อมาว่าขณะที่คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เทศบาลนครหลวงได้ถูกยุบเลิกไปโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 335 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ได้มีการจัดระเบียบบริหารใหม่ให้เป็นกรุงเทพมหานคร และให้ถือเป็นจังหวัดตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 48 มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยให้โอนกิจการทรัพย์สิน หนี้ ฯลฯ ของเทศบาลนครหลวงไปเป็นของกรุงเทพมหานครซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารตามนโยบายของรัฐบาล ฯลฯ จึงถือได้ว่ากรุงเทพมหานครเป็นนิติบุคคล กรุงเทพมหานครโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงมีสิทธิดำเนินคดีต่อจากเทศบาลนครหลวงได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินในบริเวณสวนลุมพินีจากโจทก์ เพื่อทำการค้าตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๑ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๑ เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้วได้แจ้งให้จำเลยรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างพร้อมวัสดุสัมภาระออกไปจากที่ดิน ภายใน ๙๐ วัน แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับจำเลยรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่พิพาทห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยชำระค่าเสียหายรวมเป็นเงิน ๓๐,๘๒๒ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย ฯลฯ
จำเลยให้การว่าจำเลยเช่าที่พิพาทมาก่อนเวลาที่โจทก์ฟ้อง มิได้เช่ากันคราวละ ๑ ปี หากแต่เช่ากันคราวละ ๑๐ ปี ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๑๑ จำเลยได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์เช่นเดียวกับที่เคยปฏิบัติมา โดยจำเลยจะต้องก่อสร้างรั้วเหล็กทำสวนญี่ปุ่นศาลาที่พักและม้าหมุนสำหรับเด็กในบริเวณที่เช่า เสียค่าใช้จ่าย ๑๕๐,๐๐๐ บาท โจทก์ตกลงให้จำเลยเช่าที่พิพาทเป็นเวลา ๑๐ ปี นับแต่วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๑๑ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจหน้าที่ในที่พิพาทดังโจทก์กล่าวอ้างที่พิพาทอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงมหาไทย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้ออาคารและสิ่งปลูกสร้าง กับขนย้ายวัสดุสัมภาระและบริวารออกไปจากที่เช่าตามฟ้อง
ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ประเด็นข้อ ๑ ที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น ข้อนี้โจทก์จำเลยนำสืบรับว่าการที่จำเลยทำสัญญาเช่าที่พิพาทกับโจทก์คราวละ ๑ ปีนั้น เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ หากเช่าเกินกว่า ๑ ปี ต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยก่อนเช่นนี้ เป็นการแสดงอยู่ในตัวแล้วว่ากระทรวงมหาดไทยให้โจทก์มีอำนาจให้เช่าที่พิพาทได้คราวละ ๑ ปี โจทก์จึงมีสิทธิให้จำเลยเช่าที่พิพาทได้ เมื่อโจทก์มีสิทธิให้เช่าแล้วโจทก์ก็มีอำนาจฟ้องขับไล่ผู้เช่าตามสัญญาได้
ประเด็นข้อ ๒ ที่ว่าเทศบาลนครหลวงเป็นนิติบุคคลหรือไม่ และมีสิทธิดำเนินคดีแทนโจทก์ (เทศบาลกรุงเทพ) หรือไม่ เรื่องนี้เดิมเทศบาลนครกรุงเทพเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย แต่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๒๕ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๑๔ ให้รวมเทศบาลนครกรุงเทพและเทศบาลนครธนบุรีจัดตั้งเป็นเทศบาลนครหลวงเห็นว่า ประกาศของคณะปฏิวัติมีสภาพเป็นกฎหมาย และตามประกาศฉบับนี้ ข้อ ๖ ให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยเทศบาล กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งเกี่ยวกับเทศบาลมาใช้บังคับแต่เทศบาลนครหลวงโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้และคำว่าเทศบาลในกฎหมายดังกล่าว ให้หมายรวมถึงเทศบาลนครหลวงด้วย เช่นนี้ตามข้อบัญญัติแห่งประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว ย่อมแปลได้ว่าเทศบาลนครหลวงเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ เมื่อรวมเทศบาลนครกรุงเทพ เทศบาลนครธนบุรี เป็นเทศบาลนครหลวงแล้ว สิทธิและหน้าที่ของเทศบาลนครกรุงเทพที่ได้ทำไว้แต่เดิมจึงเปลี่ยนมาเป็นของเทศบาลนครหลวง เทศบาลนครหลวงจึงมีสิทธิดำเนินคดีต่อจากเทศบาลนครกรุงเทพได้ หาใช่เป็นสิทธิส่วนตัวไม่ อนึ่งปรากฏต่อมาว่าขณะที่คดีนี้ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เทศบาลนครหลวงได้ถูกยุบเลิกไปโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๕ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕ โดยมีการจัดระเบียบบริหารใหม่ให้เป็นกรุงเทพมหานคร และให้ถือเป็นจังหวัดตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ ๒๑๘ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๘ มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยให้โอนกิจการ ทรัพย์สิน หนี้ ฯลฯ ของเทศบาลนครหลวงไปเป็นของกรุงเทพมหานครซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารตามนโยบายของรัฐบาล ฯลฯ จึงถือได้ว่ากรุงเทพมหานครเป็นนิติบุคคล กรุงเทพมหานครโดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงมีสิทธิดำเนินคดีต่อจากเทศบาลนครหลวงได้
ประเด็นข้อ ๓ ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยชอบหรือไม่คดีนี้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน ในนัดที่ ๕ จำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าตัวจำเลยป่วยอีก โจทก์ได้แถลงว่าที่จำเลยอ้างว่าจะไปติดต่อกับเทศบาลนั้น จำเลยไม่เคยไปติดต่อเลย ศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยขอเลื่อนคดีมาแล้วหลายครั้ง อันเป็นการดำเนินคดีในลักษณะเป็นการประวิงคดี จำเลยแถลงว่านัดหน้าจำเลยนำพยานมาศาลได้เท่าไรก็ขอสืบเท่านั้น หากไม่มีพยานมาเลย ให้ถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานปรากฏตามรายบงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๕ แต่ก่อนวันนัดสืบพยานครั้งต่อไปจำเลยได้ยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมอีก ศาลชั้นต้นจึงไม่อนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมได้ เช่นนี้เห็นว่าในการพิจารณาคดีนี้จำเลยได้ขอเลื่อนการพิจารณาคดีหลายครั้งโดยอ้างเหตุผลต่าง ๆ กัน จนศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยประวิงคดี จำเลยจึงได้แถลงต่อศาลจะขอเลื่อนคดีเป็นครั้งสุดท้าย โดยรับว่ามีพยานมาศาลเท่าใดก็จะสืบพยานเท่าที่นำมาได้ หลังจากที่จำเลยแถลงรับต่อศาลแล้วจำเลยก็เพทุบายมายื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม เป็นทำนองจะขอหมายเรียกพยานที่ระบุเพิ่มเติมและขอส่งประเด็นไปสืบพยานนอกเขตศาลอีก การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการแสดงแน่ชัดว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้มีการเลื่อนไปสืบพยานที่ขอระบุเพิ่มเติม จากที่ได้แถลงไว้แล้วว่าจะขอสืบพยานเท่าที่นำมาศาล การดำเนินคดีของจำเลยจึงมีเจตนาที่จะประวิงคดีให้เนิ่นช้าออกไป ที่ศาลชั้นต้นไม่รับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยจึงเป็นการชอบแล้ว
ประเด็นข้อ ๔ จำเลยอยู่ในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิจริงหรือไม่ ฟังได้ว่าสัญญาเช่าที่พิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเลิกกันแล้ว
ประเด็นข้อ ๕ เรื่องค่าเสียหายนั้น เห็นว่าหลังจากครบกำหนดตามสัญญาเช่าและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยคงอยู่ในที่เช่าตลอดมาจำเลยจึงอยู่โดยละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย แม้โจทก์จะอ้างว่าจะทำเป็นสวน สาธารณะโจทก์ก็มีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายเท่ากับอัตราที่จำเลยเคยเช่ามาแล้วได้
พิพากษายืน

Share