คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3696/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้เป็นฝ่ายขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ โจทก์ฎีกา แต่ในชั้นฎีกาโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยจำเลยดังกล่าวไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ไว้จากจำเลยที่ 1จะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกเมื่อผู้เอาประกันภัยคือจำเลยที่ 1จะต้องรับผิด ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์จำเลยที่ 3 จึงได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกสิบล้อ ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ต่อจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในทางการค้าของจำเลยที่ 1 โดยประมาทปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูงล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของนายสมร ใหญ่กระโทก ซึ่งขับรถยนต์ยี่ห้อนิสสันสวนมาในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้เกิดเฉี่ยวชนกันขึ้น เป็นเหตุให้รถยนต์ยี่ห้อนิสสันด้านขวาเสียหายตลอดแนวหลังคาหลุดไปทางด้านท้าย นายสมร ใหญ่กระโทกถึงแก่ความตายและนางสาวสมพร นิยมพรหม ซึ่งนั่งมาในรถได้รับบาดเจ็บสาหัส รถยนต์ยี่ห้อนิสสันดังกล่าวเป็นของร้อยโทนพดล พันธุ์กวีซึ่งเอาประกันภัยไว้ต่อโจทก์ หลังเกิดเหตุโจทก์จ่ายค่าเสียหายไป115,000 บาทโจทก์จึงได้สิทธิของผู้เอาประกันภัยมาเรียกเอาค่าเสียหายกับจำเลยทั้งสี่ตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า เหตุที่รถชนกันครั้งนี้มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 4 แต่เกิดจากความประมาทของนายสมร ใหญ่กระโทก จำเลยที่ 4 มิได้เป็นลูกจ้างขณะปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นค่าเสียหายเฉพาะตัวรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจำนวน103,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 28มกราคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่านำซากรถจากที่เกิดเหตุมากรุงเทพมหานคร จำนวน 3,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 นั้นให้ร่วมรับผิดในต้นเงินเพียง100,000 บาท ตามสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ สำเนาให้จำเลยทั้งสี่ให้โจทก์นำส่งสำเนาฎีกาภายใน 7 วัน ไม่พบหรือไม่มีผู้รับแทนโดยชอบให้ปิด
ในการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกา ส่งให้แก่จำเลยที่ 3 ได้โดยการปิดหมาย ส่วนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 โจทก์มิได้นำส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้ตามคำสั่งศาลชั้นต้น
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในฎีกาของโจทก์ โจทก์ลงชื่อจะมาทราบคำสั่งศาลในวันที่ 16 เมษายน 2534 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2534ดังนี้ ถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้นำส่งสำเนาฎีกาแก่จำเลยภายใน 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 2534 แล้ว เมื่อโจทก์ไม่นำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา246, 247 จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยดังกล่าวออกเสียจากสารบบความของศาลฎีกา ส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยต่อไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ โจทก์ฎีกา แต่ในชั้นฎีกาโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 4 คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 4จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยจำเลยดังกล่าวไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนนั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอก เมื่อผู้เอาประกันคือจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิด ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3จึงได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เช่นกัน”
พิพากษายืน

Share