คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3687/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทมิได้กำหนดเรื่องที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องออกค่าธรรมเนียมในการโอนไว้ด้วย การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่า ฝ่ายจำเลยได้ตกลงกับโจทก์ว่าจำเลยเป็นฝ่ายออกค่าธรรมเนียมในการโอนเองทั้งสิ้นนั้นเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญาจะซื้อจะขายอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 ข้ออ้างของโจทก์ว่ามีข้อตกลงดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ โจทก์จะอาศัยข้ออ้างดังกล่าวมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 817/2524)
การจะเลิกสัญญากัน ได้นั้นต้องอาศัยข้อสัญญาหรือกฎหมายที่มีบทบัญญัติไว้ให้เลิกสัญญาได้ จะเลิกสัญญาเอาเองโดยไม่มีข้อสัญญายินยอมกันหรือไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เลิกสัญญาได้นั้นไม่ได้ สัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้กำหนดว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อจะต้องออกค่าธรรมเนียมในการโอนครึ่งหนึ่ง มิฉะนั้นถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ทั้งตามมาตรา 457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมออกค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยเหตุดังกล่าวไม่ได้ โจทก์ยังมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญานั้นได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อที่ดินรวม 4 โฉนด จากจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 เป็นเงินจำนวนหนึ่ง วางมัดจำไว้จำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น3 งวด กำหนดโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 7 กันยายน 2521 ต่อมาได้ตกลงกันยึดเวลาการชำระเงินค่าที่ดินทั้ง 3 งวดออกไป โดยโจทก์จะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่จำเลยในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของต้นเงินค่าที่ดินแต่ละงวด ครั้นถึงกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์เตรียมเงินราคาที่ดินพร้อมดอกเบี้ยไปชำระแก่จำเลย เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจะทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ฝ่ายจำเลยอ้างว่าในสัญญามิได้ระบุว่าจำเลยจะต้องเป็นฝ่ายชำระค่าธรรมเนียมและอากรแสตมป์ จึงต้องออกคนละครึ่ง ทั้ง ๆ ที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินดังกล่าวตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ก่อนวันนัด โจทก์ได้รับความเสียหายขาดกำไรจากการแบ่งขายที่ดิน ขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจัดการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้โจทก์โดยยอมรับเงินจำนวน 6,330,032 บาท และชำระเงินค่าเสียหาย 3,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ค่าธรรมเนียมและอากรการซื้อขายที่ดินรายนี้ต่างฝ่ายต่างออกคนละครึ่งตามกฎหมายจึงไม่ได้ระบุในสัญญา จำเลยที่ 4 รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 4 ในวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ขอให้จำเลยออกค่าธรรมเนียมและอากรในการโอนทั้งหมด จำเลยไม่ยอม การซื้อขายจึงต้องล้มเลิกไปเพราะสาเหตุจากโจทก์จำเลยได้ให้ทนายความบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ได้มีการตกลงกันว่าฝ่ายจำเลยจะเป็นฝ่ายออกค่าธรรมเนียมทั้งหมด จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดจำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนไม่ต้องรับผิดโดยลำพัง พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้โจทก์โดยรับเงิน 6,330,032 บาทจากโจทก์กับให้ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 500,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ไม่เชื่อว่าได้มีข้อตกลงในเรื่องค่าธรรมเนียมตามที่โจทก์นำสืบ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เสียด้วย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.8 และบันทึกด้านหลังเอกสารดังกล่าวมิได้กำหนดเรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องออกค่าธรรมเนียมในการโอนไว้ในสัญญาด้วย การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่าฝ่ายจำเลยได้ตกลงกับโจทก์ว่า จำเลยเป็นฝ่ายออกค่าธรรมเนียมในการโอนเองทั้งสิ้นนั้นเป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารสัญญาจะซื้อจะขาย อันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 เมื่อการนำสืบพยานบุคคลของโจทก์ต้องห้ามดังกล่าวแล้ว ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าฝ่ายจำเลยได้ตกลงกับโจทก์ว่า จำเลยเป็นฝ่ายออกค่าธรรมเนียมในการโอนเองทั้งสิ้นจึงรับฟังไม่ได้ โจทก์จึงอาศัยข้ออ้างดังกล่าวมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้

มีปัญหาต่อไปว่า จำเลยจะบอกเลิกสัญญาโดยอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ยอมเสียค่าธรรมเนียมในการโอนครึ่งหนึ่งได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าการจะเลิกสัญญากันได้นั้นต้องอาศัยข้อสัญญาหรือกฎหมายที่มีบทบัญญัติไว้ให้เลิกสัญญาได้ จะเลิกสัญญาเอาเองโดยไม่มีข้อสัญญายินยอมกันหรือไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เลิกสัญญานั้นไม่ได้ ตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.8 และบันทึกด้านหลังของสัญญาดังกล่าวไม่ได้กำหนดเป็นข้อสัญญาไว้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อจะต้องออกค่าธรรมเนียมในการโอนครึ่งหนึ่ง หากไม่ยอมออกค่าธรรมเนียมดังกล่าวถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่อย่างใด เมื่อไม่มีข้อสัญญาดังกล่าวจำเลยก็จะอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาโดยอาศัยเหตุดังกล่าวไม่ได้ ทั้งตามมาตรา 457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็บัญญัติไว้แต่เพียงว่า “ค่าฤชาธรรมเนียมทำสัญญาซื้อขายนั้นผู้ซื้อผู้ขายพึงออกใช้เท่ากันทั้งสองฝ่าย” เท่านั้น ไม่ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมออกค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาได้แต่อย่างใด สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงยังไม่ระงับไป โจทก์ยังมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้ชำระหนี้ตามสัญญานั้นได้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่โจทก์โดยรับเงิน 6,330,032 บาทจากโจทก์ ทั้งนี้โดยให้ผู้ซื้อและผู้ขายออกค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินฝ่ายละเท่ากันตามมาตรา 457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

Share