คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3682/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยในคดีก่อนว่า ได้ร่วมกับจำเลยอื่นยักยอกเงินรายอื่น ซึ่งเป็นเงินรายเดียวกับรายที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ หาใช่เป็นเงินจำนวนที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ คดีแพ่งอันเกี่ยวเนื่อง กับคดีอาญาที่จะต้องบังคับตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1ได้กระทำการทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ ศาลแรงงานกลางต้องรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ว่า โจทก์นำสืบได้สมกับที่มีภาระการพิสูจน์หรือไม่ จากการนำสืบของโจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานใดที่จะพิสูจน์ได้สมตามประเด็นที่กล่าวอ้าง โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี แสดงว่าจำเลยที่ 1 ประสงค์ให้ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีซึ่งมีผลเท่ากับขอให้ศาลฎีการับฟังว่า จำเลยที่ 1มิได้ปฏิบัติผิดต่อข้อบังคับ และมิได้กระทำการทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ดังที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาเท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54
ในคดีอาญาเรื่องก่อนพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้เป็นจำเลยต่อศาลแขวงในความผิดฐานร่วมกันยักยอกและฉ้อโกง กับมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งแก่ผู้เสียหายคือโจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์คดีนี้ด้วย เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้อง และมีคำขอบังคับจำเลยที่ 3 ในคดีนี้โดยโจทก์ยื่นฟ้องในระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาข้างต้น ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว ต้องห้ามมิให้โจทก์ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)ซึ่งอนุโลมมาใช้บังคับตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ยักยอกเงินของโจทก์ โดยจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้บังคับบัญชามีส่วนรู้เห็น ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และคดีขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ข้อแรกว่า ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ข้อ ๓ มีความว่า จำเลยที่ ๑ ได้ทุจริตเบียดบังยักยอกเงิน ด.ศ.ค. และการที่จำเลยที่ ๑ ยักยอกเงินไปเป็นการจงใจทำละเมิด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวน ๓,๔๐๐ บาท แก่โจทก์ จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งศาลแขวงพระนครเหนือได้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๑ ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๓๗๖๗/๒๕๓๐ หมายเลขแดงที่๑๖๓๑๕/๒๕๓๑ ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ทุจริตเบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ตามคำฟ้องคดีนี้ ได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ ๒ ในคดีอาญา หมายเลขดำที่ ๓๗๖๗/๒๕๓๐หมายเลขแดงที่ ๑๖๓๑๕/๒๕๓๑ ในข้อหายักยอกทรัพย์และฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ และ ๓๔๑ และศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้องปรากฏตามภาพถ่ายคำพิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ เอกสารหมาย ล.๔ศาลฎีกาพิเคราะห์เอกสารหมาย ล.๔ แล้ว ปรากฏว่าพนักงานอัยการโจทก์ได้กล่าวหาจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๒ ในคดีอาญาดังกล่าวว่าได้ร่วมกับจำเลยอื่นยักยอกเงินรายอื่น ซึ่งเป็นเงินรายเดียวกับรายที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในคดีนี้ หาใช่เป็นเงินจำนวน ๓,๔๐๐ บาท ที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ไม่ดังนั้นคดีสำหรับจำเลยที่ ๑ นี้จึงมิใช่คดีแพ่งอันเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา๔๖ ดังข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ แต่อย่างใด
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ได้กระทำการทุจริตเบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ ศาลแรงงานกลางต้องรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์ว่า โจทก์นำสืบได้สมกับที่มีภาระการพิสูจน์หรือไม่ จากการนำสืบของโจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานใดที่จะพิสูจน์ได้สมตามประเด็นที่กล่าวอ้าง โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี ศาลฎีกาเห็นว่า จุดประสงค์ของจำเลยที่ ๑ ที่ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีนี้ มีผลเท่ากับขอให้ศาลฎีการับฟังว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ปฏิบัติผิดต่อข้อบังคับและมิได้กระทำการทุจริตเบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ดังที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาเท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์ว่า มูลคดีนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๘๐๗/๒๕๓๐ ของศาลแขวงพระนครเหนือ ระหว่าง พนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายดุสิต บุญยากร จำเลย ข้อหายักยอกและฉ้อโกงโดยร่วมกับจำเลยที่ ๒ ในคดีนี้ยักยอกเงินของโจทก์ไปหลายครั้งขอให้ลงโทษจำเลยและขอให้จำเลยกับจำเลยที่ ๒ ในคดีนี้ร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน ๑,๓๗๘,๐๔๐ บาท ซึ่งมียอดเงินที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ ๓ ในคดีนี้รวมอยู่ด้วย พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญดังกล่าวเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๓๐ และโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ ฟ้องของโจทก์คดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญาดังกล่าว พิเคราะห์แล้วได้ความว่า เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม๒๕๓๐ พนักงานอัยการ กรมอัยการ ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ในคดีนี้ เป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือในฐานความผิดร่วมกันยักยอกและฉ้อโกง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑, ๓๔๑, ๓๕๒พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๕๒๖ มาตรา ๔ และมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน ๑,๓๗๘,๐๔๐ บาทแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๘๐๗/๒๕๓๐ของศาลแขวงพระนครเหนือ เงินจำนวนตามคำขอดังกล่าวเป็นรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้อง และมีคำขอบังคับจำเลยที่ ๓ ในคดีนี้โดยโจทก์ได้ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๘๐๗/๒๕๓๐ ของศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลฎีกาเห็นว่า คำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้เสียหายเป็นคำขอในส่วนแห่งที่พนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์คดีนี้ ซึ่งต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง ที่ว่า”นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาและผลแห่งการนี้
(๑) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น ฯลฯ” จึงเป็นที่เห็นได้ว่าคำขอบังคับของโจทก์ในคดีนี้กับคำขอส่วนแพ่งในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๘๐๗/๒๕๓๐ ของศาลแขวงพระนครเหนือ เป็นเรื่องเดียวกันตามความหมายของบทกฎหมายดังกล่าว ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญหมายเลขดำที่ ๑๘๐๗/๒๕๓๐ อันต้องห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑) ซึ่งนำมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน โดยอนุโลมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒มาตรา ๓๑ อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๓ ในปัญหาข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share