คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2109/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ย. พยานโจทก์ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะอธิการบดีของโจทก์รู้ถึงความตายของ ว. ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2527 ทั้งยังปรากฏว่ารองอธิการบดีของโจทก์ในฐานะผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีของโจทก์ได้มีหนังสือถึงราชเลขาธิการขอพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ศพของ ว. เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2528 แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการตายของ ว. อย่างช้าเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2528 โจทก์ฟ้องทายาทของว.ให้ชำระหนี้ของว. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2529 พ้นกำหนด1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงความตายของ ว. ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะที่นายวิภาต วังซ้าย ดำรงตำแหน่งอธิการบดีของโจทก์ ได้ยืมเงินทดรองปฏิบัติราชการไป 92 ครั้ง และต่อมาทำหนังสือรับสภาพหนี้เงินยืมจำนวน 321,505.01 บาท ไว้ต่อโจทก์แต่ไม่ชำระหนี้ ครั้นวันที่ 28 มกราคม 2528 จำเลยที่ 1 กับพวกได้ยื่นแบบขอรับบำเหน็จของนายวิภาตต่อโจทก์ว่า นายวิภาตถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2527 โจทก์จึงทราบว่านายวิภาตถึงแก่ความตายและรู้ตัวทายาทในวันดังกล่าว จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นทายาทของนายวิภาตต้องร่วมกันชำระหนี้เงินยืมดังกล่าวให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 321,505.01 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งห้าให้การว่าคดีขาดอายุความ นายวิภาตมิได้เป็นหนี้ตามฟ้อง โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยทั้งห้ารับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้แน่ชัดว่า นายวิภาต บุญศรี วังซ้าย ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2527นายยรรยง สิทธิชัย เบิกความรับว่า พยานไปร่วมพิธีสวดศพของนายวิภาตเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2527 หลังจากนายวิภาตถึงแก่กรรมประมาณ 2-3 วัน ขณะที่พยานดำรงตำแหน่งอธิการบดีของโจทก์จึงฟังได้ว่าพยานรู้ถึงความตายของนายวิภาตเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน2527 เมื่อพยานเป็นอธิการบดีของโจทก์ในขณะที่พยานรู้ถึงความตายของนายวิภาต แม้พยานจะอ้างว่าพยานไปในพิธีศพในฐานะส่วนตัวก็ตามจะฟังว่าพยานในฐานะส่วนตัวรู้ถึงความตายของนายวิภาตในวันดังกล่าวแต่พยานในฐานะอธิการบดีของโจทก์ไม่รู้ถึงความตายของนายวิภาตในวันดังกล่าวย่อมขัดต่อความเป็นจริง กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่าพยานทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะอธิการบดีของโจทก์รู้ถึงความตายของนายวิภาตตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2527 จึงฟังได้ว่าโจทก์รู้ถึงความตายของนายวิภาตเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน2527 นอกจากนี้ยังได้ความจากนายสุภร เกตุวราภรณ์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเป็นรองอธิการบดีของโจทก์ว่า พยานในฐานะผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีของโจทก์ได้มีหนังสือถึงราชเลขาธิการขอพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ศพของนายวิภาต เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2528ปรากฏตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย ล.7 ซึ่งชี้ให้เห็นเป็นลายลักษณ์อักษรว่า โจทก์รู้ถึงความตายของนายวิภาตอย่างช้า เมื่อวันที่11 มกราคม 2528 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2529 พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงความตายของนายวิภาต ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสามศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share