คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 368/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานจำเลยหลังจากที่ฟังทนายจำเลยแถลงถึงข้อที่จะนำสืบพยานจำเลยปากต่อไปแล้วสั่งงดสืบพยานปากดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นนั้น เป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่จะสั่งได้ตามที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 86 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อจำเลยอุทธรณ์ขอให้ทำการสืบพยานจำเลยต่อไป จึงเป็น อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 การฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างนั้น ประกาศ กระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวมิได้บัญญัติไว้ว่า กรณีเช่นไรเป็นกรณีที่ร้ายแรงและกรณีเช่นไรไม่ร้ายแรง จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆไปเมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยมาก่อน ทั้งในวันเกิดเหตุจำเลยบอกให้โจทก์ไปพบด้วยเรื่องอะไร มีความจำเป็นเร่งด่วนประการใด และหากโจทก์ไม่ไปพบจะเกิดความเสียหายอย่างไร เมื่อโจทก์ไม่ไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลตามคำสั่งและขอผัดไปพบในวันรุ่งขึ้นเช่นนี้ แม้เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างก็ไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 29,340 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์ประการแรกว่า เมื่อจำเลยนำพยานเข้าสืบ 3 ปากแล้ว ทนายจำเลยแถลงว่ายังติดใจสืบพยานนอก 1 ปาก คือ นายโกวิท สายทอง แต่วันนี้ไม่มาศาล ขอเลื่อนไปสืบนัดหน้า ศาลแรงงานกลางสอบทนายจำเลยแล้วทนายจำเลยแถลงว่าจะสืบนายโกวิทในประเด็นที่ว่า นายโกวิทเป็นพนักงานของจำเลย และโจทก์เคยข่มขู่นายโกวิทไม่มาศาลโดยไม่มีเหตุอันสมควร ประกอบกับข้อเท็จจริงที่จำเลยจะนำสืบนั้นไม่เกี่ยวกับประเด็นโดยตรง จึงให้งดสืบพยาน ความจริงในวันนัดนายโกวิทมาศาล โดยมาถึงศาลเวลา 11 นาฬิกาเศษ เหตุที่มาช้าเพราะบ้านอยู่จังหวัดชลบุรี ไม่ชำนาญทาง ไม่เคยมาศาลแรงงานกลางจึงหลงทาง ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบนายโกวิทโดยไม่ไต่สวนก่อนจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาและนายโกวิทเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นพฤติการณ์ของโจทก์ว่าฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานและคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างในกรณีที่ร้ายแรง อันเป็นประเด็นโดยตรง การที่ศาลแรงงานกลางสั่งว่าข้อที่จะนำสืบนายโกวิทไม่เกี่ยวกับประเด็น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระบวนพิจารณา เห็นว่า การที่ศาลแรงงานกลางสั่งงดสืบพยานจำเลยหลังจากฟังทนายจำเลยแถลงถึงข้อที่จะนำสืบพยานจำเลยปากนายโกวิทแล้วสั่งงดสืบพยานปากนี้เพราะเห็นว่าไม่เกี่ยวกับประเด็นนั้น เป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางที่จะสั่งได้ตามที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 86 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานกลางและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 เมื่อจำเลยอุทธรณ์ขอให้ทำการสืบพยานจำเลยต่อไป จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยอุทธรณ์ประการหลังว่า โจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นยุติแล้วว่าโจทก์ไม่เคยฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยมาก่อน สำหรับในวันที่ 18 สิงหาคม 2535 จำเลยบอกให้โจทก์ไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลเมื่อเวลา 17.11 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาโจทก์ใกล้จะเลิกงานคือเวลา 17.30 นาฬิกา โดยไม่ได้บอกว่าให้ไปพบด้วยเรื่องอะไร มีความจำเป็นเร่งด้วยประการใด และหากไม่ไปพบจะเกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างไร ทั้งโจทก์ไม่ไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลโดยเกรงว่าจะไม่มีรถกลับบ้าน และขอผัดไปพบในวันรุ่งขึ้น ปัญหาว่าจะเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งในกรณีที่ร้ายแรงหรือไม่ นั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่11 ตุลาคม 2532 ข้อ 8 บัญญัติว่า “นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้ฯลฯ (3) ฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำต้องตักเตือน” ซึ่งจะเห็นได้ว่าการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าวมิได้บัญญัติว่า กรณีเช่นไรเป็นกรณีที่ร้ายแรงและกรณีเช่นไรไม่ร้ายแรงจึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป สำหรับคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยก่อนทั้งในวันที่ 18 สิงหาคม 2535 จำเลยบอกให้โจทก์ไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลเมื่อเวลา 17.10 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาใกล้จะเลิกงานของโจทก์คือเวลา 17.30 นาฬิกา โดยไม่ได้บอกโจทก์ว่าให้ไปพบด้วยเรื่องอะไร มีความจำเป็นเร่งด่วนประการใด และหากโจทก์ไม่ไปพบจะเกิดความเสียหายอย่างไร เมื่อโจทก์ไม่ไปพบผู้จัดการฝ่ายบุคคลตามคำสั่งและขอผัดไปพบในวันรุ่งขึ้นเช่นนี้ เห็นว่า แม้เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยก็ไม่ใช่กรณีที่ร้ายแรง เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์
พิพากษายืน

Share