แหล่งที่มา : ADMIN
ย่อสั้น
การที่ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้นายตรวจสรรพสามิตแยกกันออกตรวจร้านค้าสุราในท้องที่ตามเขตที่กำหนดนั้นเป็นเรื่องของการแบ่งงานเพื่อความเหมาะสมในการปฏิบัติราชการเท่านั้นหาเป็นการจำกัดอำนาจหน้าที่ในการตรวจร้านค้าสุราในท้องที่เขตอื่นไม่และการตรวจร้านค้าสุราก็มิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ราชการซึ่งโดยปกติจะกระทำในระหว่างเวลาราชการทั้งไม่ปรากฏว่านายตรวจสรรพสามิตจะต้องปฏิบัติหน้าที่เฉพาะเวลาราชการดังนั้นการที่จำเลยที่1ถึงที่3ซึ่งเป็นนายตรวจสรรพสามิตได้ไปที่ร้านค้าสุราของผู้เสียหายซึ่งอยู่นอกเขตท้องที่ที่ตนได้รับมอบหมายให้ไปตรวจและไปหลังเวลาราชการโดยเรียกผู้เสียหายออกจากร้านมาพบที่รรถยนต์แล้วพูดว่าจะจับสุราของผู้เสียหายไปนั้นก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่นั่นเองหาใช่เป็นการกระทำส่วนตัวไม่และเมื่อจำเลยที่1ถึงที่3ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้เสียหายจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนเพื่อจำเลยที่1ถึงที่3จะไม่จับทั้งที่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทำผิดกฎหมายอย่างไรนั้นย่อมเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา148แล้ว ส่วนที่พวกจำเลยพูดกับผู้เสียหายว่าถ้าไม่จ่ายเงินจะจับสุราที่ร้านค้าของผู้เสียหายและจะจับเดือนละ2ครั้งโดยได้ความว่าก่อนเกิดเหตุพวกของจำเลยได้มาขู่เอาเงินไปแล้ว2ครั้งและผู้เสียหายพูดต่อรองไม่ให้จับเพราะกลัวลูกค้าจะเข้าใจผิดว่าขายสุราผิดกฎหมายแล้วผู้เสียหายจ่ายเงินให้พวกจำเลยไปนั้นเป็นการจ่ายเงินให้ไปด้วยความกลังที่เกิดจากถูกพวกจำเลยขู่เข็ญว่าจะแกล้งจับสุราในร้านนั่นเองมิใช่ผู้เสียหายจะไม่มีมูลเหตุต้องกลัวเพราะไม่ได้มีสุราผิดกฎหมายการกระทำของพวกจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา337.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 เป็นนายตรวจสรรพสามิตร่วมกันปฏิบัติงานในฐานะเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ โดยขู่เข็ญจะจับกุม จะตรวจร้าน และนำสุราของผู้เสียหายไปตรวจพิสูจน์ จนผู้เสียหายยอมจ่ายเงิน 1,300 บาทให้ไปและจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งไม่ใช่เจ้าพนักงานได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการกระทำความผิดดังกล่าวขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 145, 148, 157, 337 จำเลยทั้งหดให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 337 ลงโทษตามมาตรา 148 บทหนัก จำคุกคนละ5 ปี และจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86,148, 337 ลงโทษตามมาตรา 86, 148 บทหนัก จำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ฎีกา ต่อมาจำเลยที่ 6 ถึงแก่ความตายศาลฎีกาสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับกันว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งนายตรวจสรรพสามิต กรมสรรพสามิต มีอำนาจหน้าที่ตรวจและจับกุมผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติสุรา และปรากฏจากคำของ อ. นายตรวจสรรพสามิตซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า พยานจะสั่งให้สายตรวจออกตรวจท้องที่ครั้งละ 3 วัน หมุนเวียนกัน แต่เมื่อสั่งให้ไปตรวจเขตหนึ่งแล้ว สายตรวจไปตรวจอีกเขตหนึ่งก็เป็นการปฏิบัติราชการเช่นกัน เพียงแต่เป็นการปฏิบัตินอกเหนือคำสั่ง ซึ่งเห็นได้ว่า การสั่งให้สายตรวจไปตรวจเขตไหน เป็นเรื่องของการแบ่งงานเพื่อความเหมาะสมในการปฏิบัติราชการเท่านั้น หาได้เป็นการจำกัดอำนาจหน้าที่ในการตรวจตราร้านสุราของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังคงมีอำนาจไปตรวจร้านค้าสุราของผู้เสียหายอยู่การตรวจร้านค้าสุรามิใช่การปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่ราชการ ซึ่งโดยปกติจะกระทำในระหว่างเวลาราชการ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีข้อจำกัดว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องปฏิบัติหน้าที่เฉพาะในเวลาราชการเท่านั้น ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะไปที่ร้านค้าของผู้เสียหายเมื่อเวลา 17 นาฬิกา และเรียกผู้เสียหายไปบอกว่าสุราของผู้เสียหายไม่ค่อยดีซึ่งต้องหมายความว่า สุราของผู้เสียหายไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และจะจับสุราของผู้เสียหายไปนั้น ก็ต้องถือว่าเป็นการกระทำของเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่นั่นเองหาใช่เป็นการกระทำส่วนตัวดังที่ฝ่ายจำเลยอ้างไม่ และเมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้เสียหายจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนเพื่อจำเลยจะไม่จับ ทั้งที่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทำผิดกฎหมายอย่างไรนั้น ย่อมเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แล้ว ส่วนที่ฝ่ายจำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ผู้เสียหายเบิกความว่าไม่ได้มีสุราผิดกฎหมายถ้าถูกจับสุราทั้งร้านจึงกลัวว่าลูกค้าจะเข้าใจผิดว่าขายสุราผิดกฎหมายแสดงว่าผู้เสียหายไม่มีมูลเหตุต้องกลัวเพราะผู้เสียหายไม่ได้มีสุราผิดกฎหมายไว้จำหน่ายทั้งไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานสรรพสามิตจะต้องเอาสุราของผู้เสียหายไปตรวจทั้งร้านฉะนั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ผู้เสียหายกลัวว่าพวกจำเลบยจะจับสุรา ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดว่าผู้เสียหายขายสุราผิดกฎหมาย จึงไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าผู้เสียหายเบิกความว่า พวกจำเลยบอกว่าถ้าไม่ให้เงินจะจับ ผู้เสียหายได้พูดต่อรองว่าอย่าจับไปเลยถ้าจับไปลูกค้าจะไม่กล้ามาซื้อ เมื่อจำเลยที่ 2 พูดว่าถ้าไม่ยอมจ่ายเงินเดือนหนึ่งจะจับ2 ครั้ง ผู้เสียหายเกิดความกลัว ซึ่งก็มีเหตุน่าเชื่อว่าผู้เสียหายคงจะกลัวตามที่พวกจำเลยข่มขู่ เพราะปรากฏตามคำของผู้เสียหายว่า ก่อนเกิดเหตุพวกจำเลยได้ม่ข่มขู่เอาเงินไป2 ครั้งแล้ว และผู้เสียหายได้เบิกความด้วยว่า ที่ผู้เสียหายกลัวนั้นกลัวว่าพวกจำเลยจะมาแกล้งจับสุราในร้าน ไม่ใช่กลัวถูกจับสุราเถื่อนดังที่ฝ่ายจำเลยฎีกาขึ้นมา การที่ผู้เสียหายให้เงินแก่พวกจำเลยไป ก็ด้วยความกลัวที่เกิดจากถูกพวกจำเลยขู่เข็ยว่าจะจับสุรานั่นเองการกระทำของพวกจำเลย จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 พิพากษายืน