คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3678/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีก่อนนั้นโจทก์ขอถอนฟ้องก่อนจำเลยยื่นคำให้การ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคแรกโจทก์เพียงแต่ ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนคำฟ้องต่อศาล และศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องได้ โดยมิต้องสอบถามคู่ความฝ่ายอื่นว่าจะยินยอมหรือไม่อย่างใดการที่ โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยต่อไปนั้น ก็มีความหมายแต่เพียงว่า ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยสำหรับ คดีนั้นเท่านั้นหาอาจแปลไปว่าโจทก์จะไม่ฟ้องคดีใหม่กับจำเลยอีก ตามสิทธิของโจทก์ซึ่งตามมาตรา 176 บัญญัติรับรองไว้แต่อย่างใดไม่ ทั้งมิใช่กรณีที่มีการถอนฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความกัน หรือเทียบได้กับกรณีประนีประนอมยอมความกันฟ้องของโจทก์ จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย โดยอ้างว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย เพราะได้ใช้มาก่อนตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา41(1) โจทก์หาได้ ฟ้องจำเลยในฐานะที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นใน ประเทศไทยแล้วและขอให้ศาลห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า ดังกล่าวตามมาตรา27หรือฟ้องคดีเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหาย ในการล่วงสิทธิ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามมาตรา 29 ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ของตนในประเทศไทย
จำเลยฎีกาโดยถือตามอุทธรณ์ของจำเลย เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
จำเลยจะฎีกาโต้แย้งในประเด็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความซึ่งเป็นข้อที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาครั้งก่อนแล้วอีกหาได้ไม่
ฎีกาของจำเลยซึ่งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาก่อน และไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า “KING CUP” ประกอบด้วยรูปมงกุฏกับถ้วยรางวัลอยู่ในวงกลม และได้จดทะเบียนในประเทศญี่ปุ่น จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปมงกุฏกับถ้วยรางวัลในวงกลมประกอบด้วยตัวอักษรโรมันว่า “KING CUP” สำหรับสินค้าประเภท 42 ตามคำขอจดทะเบียนที่ 86958 และได้รับจดทะเบียนที่ 66696 โดยไม่สุจริตขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนดังกล่าว
จำเลยให้การว่า ได้ใช้เครื่องหมายการค้า KING CUP ดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2501 โจทก์คัดค้านการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่นายทะเบียนให้ยกคำคัดค้านและจดทะเบียนให้จำเลย โจทก์ไม่ฟ้องคดีภายใน 90 วัน คดีโจทก์ขาดอายุความ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จำเลยไม่เหมือนกัน ไม่ทำให้ประชาชนผู้ซื้อหลงผิด ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอจดทะเบียนที่ 86958 ทะเบียนที่ 66696
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีใหม่แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ และโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้านี้มาก่อนแล้วตามคดีของศาลแพ่งหมายเลขดำที่ 9263/2522 คดีหมายเลขแดงที่ 10795/2522 ขณะที่คดีอยู่ในระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโจทก์บอกกล่าวขอถอนฟ้อง โดยกล่าวว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลย ศาลแพ่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ จำเลยฎีกาในประเด็นข้อนี้ว่า โจทก์แถลงเหตุผลในการขอถอนฟ้องว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไปเป็นการสละสิทธิตามมาตรา 176 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงไม่มีสิทธินำคดีมาฟ้องใหม่อีก ทั้งนี้ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2002/2511วัดวังตะกู โจทก์ นายสมาน บุญสนอง กับพวก จำเลย หรือมิฉะนั้นก็ปรับเท่ากับสัญญาประนีประนอมยอมความได้นั้น เห็นว่าในคดีก่อนโจทก์ขอถอนฟ้องก่อนจำเลยยื่นคำให้การ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคแรกโจทก์เพียงแต่ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องต่อศาล และศาลอุทธรณ์ให้ถอนฟ้องได้โดยมิต้องสอบถามคู่ความฝ่ายอื่นว่าจะยินยอมหรือไม่อย่างใด การที่โจทก์ยื่นคำบอกกล่าวว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยต่อไปนั้น ก็มีความหมายเพียงว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับจำเลยสำหรับคดีนั้นเท่านั้น หาอาจแปลได้ว่าโจทก์จะไม่ฟ้องคดีใหม่กับจำเลยอีกตามสิทธิของโจทก์ซึ่งมาตรา 176 บัญญัติรับรองไว้แต่อย่างใดไม่ ทั้งมิใช่เป็นกรณีที่มีการถอนฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความกันหรือเทียบได้กับกรณีประนีประนอมยอมความกันดังที่จำเลยฎีกาคำพิพากษาฎีกาที่จำเลยยกขึ้นอ้างนั้นก็เป็นกรณีที่จำเลยยื่นคำให้การเข้ามาในคดีแล้วโจทก์จึงขอถอนฟ้อง และโจทก์ได้แถลงต่อศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลว่า โจทก์จะไม่ฟ้องจำเลยเกี่ยวกับที่พิพาทอีก ซึ่งคำแถลงดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์ยอมสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 176 คำพิพากษาฎีกาดังกล่าวจึงหาตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า มาตรา 29 จึงไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลเพื่อป้องกันการล่วงสิทธิแม้ขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 41 ก็ไม่ได้และที่จำเลยฎีกาว่าศาลไม่รับรู้และให้ความคุ้มครองกับสินค้าและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งอยู่นอกประเทศไทย โดยที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยไม่ชอบด้วยกฎหมายเครื่องหมายการค้าของประเทศไทยตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1771/2499 ระหว่างนายเหลียง ชัค ชี หุ้นส่วนผู้จัดการห้างเหลียงวิงชิง โจทก์นายกิม แซ่ลี้ เจ้าของยี่ห้องเหลื่องเหว่งเส็ง จำเลย ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่า รัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นได้ตกลงกับรัฐบาลไทยในเรื่องคุ้มครองสิทธิในอุตสาหสมบัติไว้แล้ว ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์เสียนั้น เห็นว่า ข้อที่จำเลยฎีกาขึ้นมานี้เป็นปัญหาว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงฎีกาได้ แม้จะไม่ได้ว่ากล่าวกันมาก่อนในศาลล่าง แต่อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยโดยอ้างว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย เพราะได้ใช้มาก่อนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) โจทก์หาได้ฟ้องจำเลยในฐานะที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทยแล้วและขอให้ศาลห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามมาตรา 27 หรือฟ้องคดีเพื่อป้องกันหรือเรียกค่าเสียหายในการล่วงสิทธิเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามมาตรา 29 ไม่ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีได้ แม้จะยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในประเทศไทยซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานหลายคดีแล้ว แม้แต่คำพิพากษาฎีกาที่ 1771/2499 ที่จำเลยอ้างมาสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยนั้นเอง ศาลฎีกาก็วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้ในประเทศจีนไม่มีผลใช้บังคับในประเทศไทย แต่คดีนี้มีประเด็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยหรือไม่ การกล่าวอ้างของโจทก์ในการกระทำต่าง ๆแห่งการใช้และการแสดงความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นเป็นลำดับมาตามระยะเวลาอันยาวนาน ย่อมเป็นข้อเท็จจริงที่จะฟังถึงสิทธิแห่งการเป็นเจ้าของและการใช้เครื่องหมายการค้าประกอบข้ออ้างของโจทก์ เพื่อเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาโดยถือตามอุทธรณ์ของจำเลย ลงวันที่ 10 กันยายน 2523 นั้นเห็นว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้ ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ก็เป็นข้อที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ในคำพิพากษาครั้งก่อนแล้ว จำเลยจะฎีกาโต้แย้งในประเด็นข้อนี้อีกหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์น่าจะฟ้องนายทะเบียนหรือกรมทะเบียนการค้ามิใช่ฟ้องจำเลย และควรต้องฟังว่าจำเลยเป็นผู้สุจริต ไม่ควรเพิกถอนเครื่องหมายการค้าของจำเลย แต่ควรให้จดทะเบียนร่วมกัน ตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าฎีกาของจำเลยดังกล่าว จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาก่อน และไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้เช่นกัน
พิพากษายืน

Share