แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารโจทก์ร่วมไม่จัดให้มีหลักประกันคุ้มกับจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยปกปิดไม่ขออนุมัติโจทก์ร่วมและปฏิเสธว่าไม่ได้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่จัดให้มีการจดแจ้งการรับอาวัลลงในสมุดทะเบียนไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการรับอาวัล ไม่ใช่เป็นการทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลงตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสารหรือหลักประกันของโจทก์ร่วม จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(1)
สมุดทะเบียนหนังสือค้ำประกัน และสมุดบัญชีภาระในการรับรองตั๋วเงินของธนาคารโจทก์ร่วม เป็นเอกสารบัญชีหรือเอกสารของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของโจทก์ร่วมมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและดำเนินธุรกิจในสาขาซึ่งรวมถึงการสั่งให้พนักงานลงบัญชีหรือเรียกบัญชีมาตรวจสอบ จึงถือได้ว่าจำเลยมีหน้าที่ลงบัญชีด้วยการที่จำเลยลงชื่อรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินโดยไม่มีหลักประกัน ไม่ขออนุมัติจากโจทก์ร่วมตามระเบียบ ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการรับอาวัลและไม่ลงบัญชีเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมสามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นการละเว้นไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีโดยมีเจตนาเพื่อลวงให้โจทก์ร่วมขาดประโยชน์อันควรได้ มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิพ.ศ. 2499 มาตรา 42(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้จัดการธนาคารมหานคร จำกัด สาขานนทบุรี ซึ่งเป็นอาชีพนายธนาคารอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชนมีหน้าที่และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการดำเนินและจัดการทรัพย์สินของธนาคารมหานคร จำกัด ผู้เสียหาย ซึ่งประกอบกิจการงานทุกอย่างรวมทั้งการรับฝากเงิน ถอนเงิน รับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินและกิจการอื่น ๆ โดยจำเลยจะต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของผู้เสียหายทุกประการในการรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน ผู้ขอจะต้องมีบัญชีเงินฝากเท่ากับจำนวนเงินที่ให้รับอาวัลหรือมีหลักทรัพย์มาวางเป็นหลักประกันโดยผู้ขอต้องทำหนังสือรับรองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและทำสัญญาจำนำบัญชีเงินฝากโดยยอมให้หักเงินจากบัญชีเงินฝากหรือทำสัญญาจำนองกรณีใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกัน ทั้งต้องได้รับอนุมัติจากผู้เสียหายก่อนกับจำเลยต้องจดแจ้งข้อความการรับอาวัลไว้ในสมุดทะเบียนของผู้เสียหายและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปีของต้นเงินที่รับอาวัลแล้วนำส่งเป็นรายได้แก่ผู้เสียหาย เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2531 เวลากลางวัน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2531 เวลากลางวัน และวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2531 เวลากลางวัน จำเลยดำเนินการรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินที่ นบ.10/2531 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2531 ที่ นบ.11/2531 ลงวันที่19 กุมภาพันธ์ 2531 และที่ นบ.12/2531 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2531 ตามลำดับ ซึ่งนายนพพร อมาตยกุล ผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาว่าจะจ่ายเงินจำนวนฉบับละ2,250,000 บาท ให้แก่นายนิพนธ์ กาญจนพันธ์ ในวันที่ 4 มีนาคม 2531 จำนวน 2 ฉบับ และวันที่ 8 มีนาคม 2531 ตามลำดับ โดยจำเลยไม่ดำเนินการตามระเบียบและขออนุมัติจากผู้เสียหายก่อน ทั้งไม่จดแจ้งข้อความลงไว้ในสมุดทะเบียนของผู้เสียหายแล้วเบียดบังยักยอกเอาทรัพย์สินเงินค่าธรรมเนียมการรับอาวัลจำนวน 1,479.45 บาท 1,294.52 บาทและ 1,202.05 บาท ตามลำดับ ที่ได้รับจากผู้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต และเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของจำเลย จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์อันควรได้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354, 91 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 41, 42 และให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินรวม 3,976.02 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณา ธนาคารมหานคร จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิพ.ศ. 2499 มาตรา 42(1)(2) จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 3 ปี คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(1) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ร่วมฎีกาประการเดียวว่า การที่จำเลยไม่จัดให้มีหลักประกันคุ้มกับจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยปกปิดไม่ขออนุมัติโจทก์ร่วม และปฏิเสธว่าไม่ได้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่จัดให้มีการจดแจ้งการรับอาวัลลงในสมุดทะเบียนไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรับอาวัล เป็นการงดเว้นกระทำ เพื่อลวงให้โจทก์ร่วมขาดประโยชน์อันควรเป็นการทำให้โจทก์ร่วมเสียหาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอม บัญชีเอกสารหรือหลักประกันของโจทก์ร่วม จำเลยจึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(1) ด้วย เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 42(1) จะต้องทำให้เสียหายเปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสารหรือหลักประกันของโจทก์ร่วม การที่จำเลยไม่จัดให้มีหลักประกันคุ้มกับจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยปกปิดไม่ขออนุมัติโจทก์ร่วมและปฏิเสธว่าไม่ได้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่จัดให้มีการจดแจ้งการรับอาวัลลงในสมุดทะเบียนไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการรับอาวัลไม่ใช่เป็นการทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลง ตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสาร หรือหลักประกันของโจทก์ร่วม จำเลยจึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ร่วมฎีกาฎีกาโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาประการเดียวว่า จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 42(2) เพราะจำเลยเป็นเพียงลูกจ้างเท่านั้น เอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 ไม่ใช่สมุดบัญชีสำคัญ การไม่ลงบัญชีไม่ทำให้หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ และจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องลงบัญชีหรือยินยอมให้ไม่ลงบัญชีเพื่อลวงโจทก์ร่วม เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วมสาขานนทบุรีมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและดำเนินธุรกิจของโจทก์ร่วมสาขานนทบุรี จำเลยจึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นบริษัทจำกัดตามที่กฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้เอกสารหมาย จ.5 เป็นสมุดทะเบียนหนังสือค้ำประกัน ส่วนเอกสารหมาย จ.6 เป็นสมุดบัญชีภาระในการรับรองตั๋วเงินของโจทก์ร่วม จึงเป็นเอกสารบัญชีหรือเอกสารของบริษัทตามที่กฎหมายมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้เช่นเดียวกัน และข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่วินิจฉัยข้างต้นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้จัดการของโจทก์ร่วมสาขานนทบุรี มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและดำเนินธุรกิจในสาขานนทบุรีทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการสั่งให้พนักงานลงบัญชีหรือเรียกบัญชีมาตรวจสอบด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยมีหน้าที่ลงบัญชีด้วย การที่จำเลยลงชื่อรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินโดยไม่มีหลักประกันไม่ขออนุมัติจากโจทก์ร่วมสำนักงานใหญ่ตามระเบียบ ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการรับอาวัลและไม่ลงบัญชีเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมสามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นการละเว้นไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีโดยมีเจตนาเพื่อลวงให้โจทก์ร่วมขาดประโยชน์อันควรได้เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(2)ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย”
พิพากษายืน