คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 367/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ค้ำประกัน ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่ามีกำหนดอายุความเท่าใด จึงมีกำหนดอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164
การบรรยายฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้อัตราหนึ่ง ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้เข้าค้ำประกันการเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 อีกอัตราหนึ่ง ดังนี้ หาทำให้จำเลยที่ 2 พ้นความรับผิดต่อโจทก์ไม่
จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความรับผิดต่อโจทก์ ในฐานะผู้ค้ำประกันการที่จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นบัญชีเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดอยู่ตามจำนวนที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ภายในจำนวนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ค้ำประกันไว้ แม้โจทก์ยอมรับการชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 จำนวนหนึ่งและปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียนั้น ก็หาใช่เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 จนถึงกับให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ เพราะหนี้รายนี้ยังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง การปลดหนี้ดังกล่าวคงเป็นประโยชน์เพียงเท่าส่วนที่ได้ปลดไปเท่านั้น
ปัญหาว่าบริษัทจำเลยไม่มีวัตถุประสงค์ค้ำประกันหนี้ หากไปประกันหนี้จะต้องรับผิดหรือไม่ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาขอเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารโจทก์จำนวนหนึ่ง โดยมีจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ขอเบิกเงินเกินบัญชีอีก อีกจำนวนหนึ่งโดยมีจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยได้เบิกเงินเกินบัญชีไปเป็นจำนวน ๑๐๔,๕๘๕.๓๓ บาท แล้วจำเลยไม่ชำระ จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามชำระหนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ สู้ได้ว่า ได้เคยเบิกเงินเกินบัญชี แต่ได้ตกลงทำลังใส่ใบยาส่งนอก หักผ่อนชำระกันเสร็จสิ้นไปแล้ว เข้าใจว่าไม่มีหนี้สินเกี่ยวข้อง แต่เพื่อไม่ให้ยุ่งยากขอรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ ๕๐,๐๐๐ บาท โดยจะผ่อนชำระให้เดือนละ ๑,๐๐๐ บาท โดยมีผู้ค้ำประกัน
จำเลยที่ ๒ สู้ว่า จำเลยได้ทำสัญญาค้ำประกันเงินเกินบัญชีของ จำเลยที่ ๑ ไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ในระยะ ๖ เดือน โจทก์มิได้แสดงในฟ้องว่าจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดเป็นจำนวนเงินเท่าใด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยเซ็นชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันเท่านั้น ไม่ได้ยอมให้ถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมด้วย โจทก์ยอมผ่อนเวลาให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีอีก โดยมิได้บอกให้จำเลยที่ ๒ รู้เห็นยินยอมด้วยจำเลยที่ ๒ ย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด โจทก์ยอมให้จำเลยที่ ๑ เบิกเงินเกินบัญชีอีก ๓๐,๐๐๐ บาท และมีจำเลยที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ ๒ จึงไม่ทราบว่าต้นเงินรวมกับดอกเบี้ยเฉพาะที่จำเลยที่ ๒ ค้ำประกันไว้เป็นจำนวนเท่าใด โจทก์ว่าจำเลยที่ ๑ นำเงินเข้าบัญชีฝากเพื่อกลบหนี้ แต่ก็มิได้แยกส่วนที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จะต้องรับผิดกันในระยะใด และเป็นจำนวนคนละเท่าใด จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมโจทก์ยอมให้จำเลยที่ ๓ มาค้ำประกันโดยมิได้แจ้งให้จำเลยที่ ๒ ทราบ และจำเลยที่ ๒ มิได้รู้เห็นยินยอมด้วย จำเลยที่ ๒ จึงพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ เพราะโจทก์ได้เปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันใหม่แล้ว คดีโจทก์ก็ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๓ สู้ว่า ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ มีระยะ ๑๒ เดือนจริง แต่ข้อความอื่นในสัญญาเป็นการจำยอม จึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ ๓ ทราบว่าจำเลยที่ ๑ เบิกเงินไปเท่าใด โจทก์ยินยอมผ่อนเวลาให้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๓ ไม่รู้เห็นยินยอม ทำให้จำเลยที่ ๓ เสียหาย จำเลยที่ ๓ หลุดพ้นจากความรับผิดแล้ว จำเลยที่ ๑ ขอเบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์สองจำนวน โจทก์เอาหนี้ทั้งสองจำนวนมาปนและคิดดอกเบี้ยทบต้นโดยมิได้แบ่งแยกความรับผิดแต่ละจำนวนแต่ละคนเป็นฟ้องเคลือบคลุม จำเลยที่ ๓ ไม่ต้องรับผิดเท่าจำนวนที่โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ชอบที่จะบังคับหนี้เอาจากจำเลยที่ ๑ ก่อน ถ้าไม่ได้ต้องบังคับเอาจากจำเลยที่ ๒ ก่อน โจทก์ปล่อยให้ดอกเบี้ยพอกพูน จำเลยจึงไม่ยอมรับผิด และควรให้จำเลยผ่อนชำระเป็นงวด ๆ
ภายหลังสืบพยานโจทก์ได้ ๑ ปาก จำเลยที่ ๓ ยอมใช้เงินให้โจทก์ ๒๐,๐๐๐ บาท โจทก์ยอมรับและถอนฟ้องจำเลยที่ ๓ ซึ่งศาลอนุญาตให้ถอนได้ สำหรับจำเลยที่ ๒ ตกลงกันไม่ได้ จึงได้พิจารณากันต่อไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ตามที่โจทก์เรียกร้อง จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดเพียง ๑๔,๕๑๖.๕๖ บาทเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิจะบังคับให้จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดในดอกเบี้ยทบต้นจากเงิน ๑๔,๕๑๖.๕๖ บาท พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้ต้นเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีให้โจทก์เป็นเงิน ๔๖,๖๔๗.๑๖ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๒ ต่อปี โดยวิธีคิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคาร หากโจทก์จะเรียกให้จำเลยที่ ๒ รับผิด ก็ให้จำเลยที่ ๒ ใช้เงินกู้เบิกเกินบัญชีแก่โจทก์เพียง ๑๔,๕๑๖.๕๖ บาท ทั้งนี้ไม่ต้องรับผิดรวมถึงดอกเบี้ยทบต้น หลังวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๓๙๙ ด้วย
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีค้ำประกันไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ว่ามีกำหนดอายุความเท่าใด จึงมีกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ และคดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุม ที่โจทก์ให้จำเลยที่ ๓ เข้าค้ำประกันจำเลยที่ ๑ หาทำให้จำเลยที่ ๒ พ้นความรับผิดต่อโจทก์ไม่ เพราะจำนวนเงินที่พิพาทกัน สำหรับจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ กับโจทก์นั้นตามสัญญาให้เบิกเงินเกินบัญชีได้ในอัตราต่างกันเพราะทำคนละคราวกัน การที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ ๓ มาเป็นผู้ค้ำประกัน ไม่ถือว่าโจทก์สละสิทธิ์ที่จะให้จำเลยที่ ๒ รับผิดต่อไป จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ มีความรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันการที่จำเลยที่ ๑ เบิกเงินเกินบัญชี อันเป็นบัญชีเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดอยู่ตามจำนวนที่จำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้ภายในจำนวนที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ค้ำประกันไว้ แม้โจทก์ยอมรับการชำระหนี้จากจำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐ บาทและปลดหนี้ให้โดยการถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๓ เสียนั้น ก็หาใช่เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ ๒ จนถึงกับให้จำเลยที่ ๒ หลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ เพราะหนี้รายนี้ยังมิได้ชำระโดยสิ้นเชิง การปลดหนี้ดังกล่าวคงเป็นประโยชน์เพียงเท่าส่วนที่ได้ปลดไปเท่านั้น
ประเด็นข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า ต้นเงิน ๑๔,๕๑๖.๕๖ บาท เป็นจำนวนหนี้แท้จริง และจำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดต่อโจทก์ และต้นเงินจำนวนนี้เป็นต้นเงินก่อนที่จำเลยที่ ๓ เข้าค้ำประกัน ที่ว่าบริษัทจำเลยที่ ๒ ไม่มีวัตถุประสงค์ค้ำประกันหนี้จะต้องรับผิดหรือไม่ ไม่เป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อมิได้เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๒ ก็ไม่มีสิทธิอ้างอิงปัญหาดังกล่าวนี้
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยทั้งสอง

Share