คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3667/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทำงานขับรถบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของจำเลยทั่วประเทศ จึงเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบกได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและค่าเที่ยวตามระยะทางใกล้ไกล คำนวณได้ตามระยะทางและจำนวนเที่ยวที่ทำได้โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาในการขับรถ ค่าเที่ยวดังกล่าวจึงไม่ได้จ่ายเพื่อตอบแทนการขับรถในส่วนที่เกินเวลาทำงานปกติ แต่มีลักษณะเป็นการตอบแทนการเดินทางไปปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงให้จ่ายค่าเที่ยวเป็นการตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ค่าเที่ยวนั้นจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้าง โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน จึงเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 5
แม้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบกจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 65 (5) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12ฯ แต่จำเลยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติจากวันละ 8 ชั่วโมงให้แก่โจทก์ โดยถือเกณฑ์คำนวณค่าจ้างเฉลี่ยเงินค่าเที่ยวรวมกับเงินเดือนได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละหรือชั่วโมงละเท่าใด แล้วนำค่าจ้างเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงนั้นมาคำนวณค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติต่อไป

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สิบสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 42 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 42 และเรียกจำเลยทุกสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งสี่สิบสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องเป็นใจความว่า โจทก์ทั้งสี่สิบสองเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อส่งสินค้าให้ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัสทั่วประเทศ ได้รับเงินเดือนตามฟ้องของโจทก์แต่ละคน โดยมีลักษณะการทำงานเป็นรอบ รอบละ 14 วัน กล่าวคือ 7 วันทำการแรกโจทก์ทั้งสี่สิบสองต้องขับรถร่วมกับพนักงานขับรถคู่กะวิ่งงานระยะยาว (ต่างจังหวัด) ผลัดเปลี่ยนกันขับ หากวันทำการที่ 7 โจทก์ทั้งสี่สิบสองเป็นผู้ขับกลับ วันทำการที่ 8 และที่ 9 โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะได้หยุดพัก ส่วนคู่กะจะต้องวิ่งงานระยะสั้น (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ในวันดังกล่าวโดยลำพัง และในวันทำการที่ 10 และที่ 11 โจทก์ทั้งสี่สิบสองต้องวิ่งงานระยะสั้น (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล) ส่วนคู่กะจะได้หยุดพักในวันดังกล่าว หลังจากนั้นในวันทำการที่ 12 ถึง 14 โจทก์ทั้งสี่สิบสองกับคู่กะจะต้องวิ่งงานระยะสั้นร่วมกัน แล้วจึงเริ่มต้นรอบงานใหม่ ในแต่ละรอบ 14 วัน โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะได้หยุดงาน 2 วัน ส่วนอีก 12 วัน ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง หากไม่ขับรถก็ต้องนอนพักผ่อนในรถหรือรอรับงานในเที่ยวต่อไป คิดเป็นชั่วโมงการทำงานปกติ 8 ชั่วโมง นอกเวลาทำงานปกติ 16 ชั่วโมง จำเลยจ่ายเงินเดือนและเงิน “ค่าเที่ยว” ตามระยะทางใกล้ไกลที่ขับรถไปทำงานยังสถานที่ต่างๆ ให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสอง จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ แต่จำเลยไม่เคยจ่ายเงินดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่สิบสองขอคิดค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติเป็นเวลา 2 ปี ย้อนหลังถึงวันฟ้องของโจทก์แต่ละคน โดยหักวันหยุดสัปดาห์ละ 1 วัน ทำงานล่วงเวลาวันละ 16 ชั่วโมง รวมเป็นเวลาทำงานนอกเวลาทำงานปกติ ตามฟ้องของโจทก์แต่ละคน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำงานปกติตามคำขอท้ายคำฟ้องของโจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า เดิมพนักงานขับรถของจำเลยทำงาน 12 วัน หยุด 2 วัน ต่อมาเดือนตุลาคม 2548 ได้เปลี่ยนเป็นทำงาน 6 วัน หยุด 1 วัน โดยมีจำนวนวันทำงานและวันหยุดเท่าเดิม จำเลยจัดให้มีพนักงานขับรถประจำ 2 คน ต่อรถบรรทุก 1 คัน และมีพนักงานสำรองไม่ประจำรถหมุนเวียนเป็นช่วงๆ ช่วงละประมาณ 2 เดือน รถบรรทุก 1 คัน จะขับส่งสินค้าระยะสั้นและระยะไกลสลับกันไป โดยระยะสั้นไม่เกิน 400 กิโลเมตร ใช้พนักงานขับรถ 1 คน ต่อเที่ยว หากเป็นระยะไกลเกิน 400 กิโลเมตร ขึ้นไปจะใช้พนักงานขับรถ 2 คน ต่อเที่ยวสลับกันขับ ทั้งบางครั้งเมื่อกลับมาแล้วพนักงานขับรถอ่อนเพลียไม่สามารถขับเที่ยวต่อไปหรือไม่มาทำงานหรือลางานหรือมีเหตุอื่น จำเลยก็จะจัดพนักงานสำรองขับรถสลับกับพนักงานประจำรถดังกล่าวโจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงไม่ได้ทำงานขับรถตลอดเวลา การทำงานของโจทก์ทั้งสี่สิบสองนั้นเป็นไปตามกฎหมายโดยทำงานตามปกติวันละ 8 ชั่วโมง หยุดพัก 1 ชั่วโมง และมีสิทธิคิดค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติต่อเมื่อทำงานเกินเวลาดังกล่าวการนับชั่วโมงการทำงานต้องนับเวลาการทำงานจริง การรอรับงานเพื่อวิ่งรถในเที่ยวต่อไปไม่ใช่เวลางานที่จะนำมาคิดค่าตอบแทนและจำเลยไม่เคยให้โจทก์ทั้งสี่สิบสองรอรับงาน การทำงานของโจทก์ทั้งสี่สิบสองเป็นประเภทงานขนส่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ข้อ 6 โจทก์ทั้งสี่สิบสองจึงไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในเวลาทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำเกินเวลาทำงานปกติ โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะทำงานต่อเมื่อขับรถขนส่งสินค้าเป็นเที่ยว ๆ ตามระยะทางใกล้ไกลโดยได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือนประจำและเงินค่าเที่ยวต่อการขับรถแต่ละเที่ยวมากน้อยตามระยะทางใกล้ไกล ซึ่งได้รวมค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวอีก อัตราเงินเดือนตามฟ้องของโจทก์แต่ละคนไม่ถูกต้องและสูงเกินจริงช่วงเวลาที่โจทก์เรียกร้องมานั้นโจทก์บางคนไม่ได้ทำงานเกินเวลาทำงานตามปกติ บางคนถูกให้ออกจากงาน และบางคนถูกพักงานชั่วคราว เงินค่าตอบแทนดังกล่าวไม่ใช่เงินที่จำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่โจทก์ทั้งสี่สิบสองมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 6 ที่ 7 ที่ 18 ที่ 20 และที่ 25 ขอถอนฟ้องศาลแรงงานกลางอนุญาต และจำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ดังกล่าวจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามสิบเจ็ดว่า เงินค่าเที่ยวเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติหรือไม่ เห็นว่า พระราบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ได้นิยามคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงาน แต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับและไม่ได้โต้แย้งกันฟังเป็นยุติแล้วว่างานที่โจทก์ทั้งหมดต้องปฏิบัติคือการขับรถบรรทุกสินค้าตู้คอนเทนเนอร์จากศูนย์กระจายสินค้า อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปส่งสินค้าให้แก่ลูกค้าของจำเลยทั่วประเทศ โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและค่าเที่ยวตามระยะทางใกล้ไกลที่ต้องขับรถไปทำงานในแต่ละเที่ยว กำหนดอัตราค่าเที่ยวไว้เป็นจำนวนแน่นอนสามารถคำนวณได้ตามระยะทางและจำนวนเที่ยวที่โจทก์แต่ละคนทำได้ตามตารางกำหนดอัตราค่าเที่ยวเอกสารหมาย จ.ล.2 ซึ่งมีผลบังคับนับแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2547 โดยกำหนดระยะทางไว้เป็นกิโลเมตร และจำนวนพนักงานขับรถคูณด้วยค่าเที่ยว เช่น ลำดับที่ 5 สระบุรี 110 กิโลเมตร ค่าเที่ยว 200 บาท คูณด้วย 1 (ขับคนเดียว) ลำดับที่ 14 พระนครศรีอยุธยา 55 กิโลเมตร ค่าเที่ยว 200 บาท คูณด้วย 1 (ขับคนเดียว) ลำดับที่ 25 ชลบุรี 300 กิโลเมตร ค่าเที่ยว 250 บาท คูณ 1 และ 140 บาท คูณ 2 (ขับเดียว 250 บาท ขับ 2 คน คนละ 140 บาท) ลำดับที่ 31 หาดใหญ่ 2,100 กิโลเมตร 1,000 บาท คูณ 2 (ขับ 2 คน คนละ 1,000 บาท) โดยไม่ปรากฏข้อความใดที่ระบุว่าเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ล.2 ว่า การขับรถไปส่งสินค้าระยะประมาณ 100 กิโลเมตร เช่น จังหวัดสระบุรีหรือพระนครศรีอยุธยา พนักงานขับรถได้รับค่าขับรถต่อเที่ยวคนละ 200 บาท หรืออัตราเฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ 2 บาท และการขับรถไปส่งสินค้าระยะไกลเกิน 1,000 กิโลเมตร เช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พนักงานขับรถยังได้ค่าขับรถต่อเที่ยวเพียงคนละ 1,000 บาท หรืออัตราเฉลี่ยกิโลเมตรละประมาณ 1 บาทเศษ เห็นได้ว่าค่าเที่ยวดังกล่าวกำหนดขึ้นตามระยะทางเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาในการขับรถ แสดงว่าค่าเที่ยวดังกล่าวไม่ได้จ่ายเพื่อตอบแทนการขับรถในส่วนที่เกินเวลาทำงานปกติ แต่มีลักษณะเป็นการตอบแทนการเดินทางไปปฏิบัติงานในเวลาทำงานปกติ จึงไม่เป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้พนักงานขับรถเป็นการตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ทั้งคดีไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งหมดซึ่งเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบกกับจำเลยมีข้อตกลงให้จ่ายค่าเที่ยวเป็นการตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ เงินค่าเที่ยวดังกล่าวจึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของบทบัญญัติมาตรา 5 ดังกล่าวแม้โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างในงานขนส่งทางบกจะไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าล่วงเวลาในชั่วโมงที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (8) (กฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุคดีนี้) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) แต่จำเลยก็ยังคงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ทั้งหมดสำหรับเวลาที่งานเกินเวลาทำงานปกตินั้นด้วย หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่ โจทก์ทั้งหมดจึงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติตามจำนวนเวลาที่โจทก์ทั้งหมดได้ทำงานเกินจากวันละ 8 ชั่วโมง โดยถือเกณฑ์คำนวณค่าจ้างเฉลี่ยเงินค่าเที่ยวรวมกับเงินเดือนได้ค่าจ้างเฉลี่ยวันละหรือชั่วโมงละเท่าใด แล้วนำค่าจ้างเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงนั้นมาคำนวณค่าตอบแทนสำหรับเวลาที่ทำงานเกินเวลาทำงานปกติพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องของโจทก์แต่ละคนเป็นต้นไป แต่จำนวนเงินดังกล่าวไม่ให้เกินคำขอของโจทก์แต่ละคน
อนึ่ง ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนเพียงพอที่ศาลฎีกาจะพิพากษาถึงจำนวนเงินค่าตอบแทนในการทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้โจทก์แต่ละคนได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนว่ามีสิทธิได้รับค่าจ้างเฉลี่ยชั่วโมงละเท่าใด โจทก์แต่ละคนทำงานเกินเวลาทำงานปกติจำนวนกี่ชั่วโมง และมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนสำหรับการทำงานเกินเวลาทำงานปกติคนละเท่าไรก่อนแล้วพิพากษาคดีเสียใหม่ตามรูปคดี”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติสำหรับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ 8 ถึงที่ 17 ที่ 19 ที่ 21 ถึงที่ 24 และที่ 26 ถึงที่ 42 ในกรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคท้าย

Share