คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3660/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่ดินโฉนดเลขที่ 44558 ได้มีการแบ่งแยกในนามเดิมออกไป 12 แปลง คงเหลือเนื้อที่ 28 ตารางวา คดีก่อน ส.ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 44558 ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่พอฟังว่า จำเลยทั้งสองปลูกบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 44558 พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ต่อมา ส. ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 127496 เนื้อที่ 50 ตารางวา ซึ่งเป็นโฉนดใหม่ที่แบ่งแยกออกมาดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสองขณะที่ ส. ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง ที่ดินโฉนดเลขที่ 44558 กับโฉนดเลขที่ 127496 เป็นที่ดินคนละแปลงกันอยู่แล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 127496 มาจาก ส. และยื่นฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๗๔๙๖ เนื้อที่ ๕๐ ตารางวา โดยซื้อมาจากนางสาวสุชาดา พัชรสุคนธ์ จำเลยทั้งสองได้ปลูกบ้านเลขที่ ๒๗๑/๑ ในที่ดินดังกล่าว โดยไม่มีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวาร รื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไป ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ ๑,๕๐๐ บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองและบริวารจะรื้อถอนบ้านและขนย้ายออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า นางสาวสุชาดา จูงสัมพันกุล หรือนางสุชาดา พัชรสุคนธ์ ได้ยกที่ดินให้สุเหร่าบึงหนองบอนโจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการสุเหร่าจึงไปทำสัญญาซื้อขายเพื่อฟ้องขับไล่จำเลยนางสาวสุชาดา เคยเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๔๕๕๘ ศาลพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ต่อมานางสาวสุชาดา ได้ขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๔๕๕๘ ออกหลายแปลง ได้ออกโฉนดเลขที่ ๑๒๗๔๙๖ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๑๙ โจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ จำเลยทั้งสองปลูกบ้านในที่ดินลำพังปลาดุกเป็นที่สาธารณาสมบัติแผ่นดินมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ หากเป็นที่ของโจทก์จำเลยทั้งสองก็ครอบครองมาเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว ย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิช์ มาตรา ๑๓๘๒ จึงฟ้องแย้ง ขอให้พิพากษาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๗๔๙๖ เนื้อที่ ๕๐ ตารางวาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินที่โจทก์ซื้อโฉนดเลขที่ ๑๒๗๔๙๖ มาจากนางสุชาดาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ที่ดินที่โจทก์ซื้อเจ้าพนักงานที่ดินได้ออกโฉนดเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๙ โจทก์ทั้งสองซื้อมาเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๔ จำเลยทั้งสองยังไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลย
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า เดิมนางสาวสุชาดาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๔๕๕๘ แขวงประเวศ ( ประเวศฝั่งใต้ ) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑ ไร่ ๒ งาน ๑๒ ตารางวา ต่อมาได้ขอแบ่งแยกในนามเดิมออกไป ๑๒ แปลงพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๑๙ เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๗๔๙๕ ถึงโฉนดเลขที่ ๑๒๗๕๐๖ โฉนดเลขที่ ๔๔๕๕๘ เดิมคงเหลือเนื้อที่ ๒๘ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๑๒๗๔๙๖ มีเนื้อที่ ๕๐ ตารางวา ได้ออกโฉนดใหม่ให้เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๙ วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๑ นางสาวสุชาดาได้เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๔๕๕๘ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสองปลูกบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๔๕๕๘ พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๙๐/๒๕๒๒ ของศาลแพ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๔ นางสุชาดาได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๗๔๙๖ ให้โจทก์ทั้งสองโดยทำหนังสือสัญญาและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามเอกสารหมาย จ.๑, จ.๒ ปัญหาวินิจฉัยมีว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นางสาวสุชาดาเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๔๕๕๘ ได้ขอแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมและพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๑๙ เฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๗๔๙๖ ซึ่งมีเนื้อที่ ๕๐ ตารางวาเป็นโฉนดใหม่ ออกโฉนดให้เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๙ ส่วนที่ดินโฉนดเบขที่ ๔๔๕๕๘ โฉนดเดิม คงเหลือเนื้อที่ ๒๘ ตารางวา นางสาวสุชาดาเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๔๕๕๘ เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๒๑ ขณะที่นางสาวสุชาดายื่นฟ้องจำเลยทั้งสองที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๔๕๕๘ กับโฉนดเลขที่ ๑๒๗๔๙๖ เป็นที่ดินคนละแปลงกันอยู่แล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๒๗๔๙๖ มาจากนางสาวสุชาดาในเวลาต่อมาและยื่นฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ ที่ศางชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ต้องห้ามมิให้ฟ้องอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ และพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share