แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากวันที่ 25 มิถุนายน 2526 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีที่ต่อออกไปแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำเงิน เข้าบัญชีและโจทก์ได้ยอมให้จำเลยเบิกเงินเกินบัญชีได้อีก ตาม บัญชีกระแสรายวันคงมีแต่การคำนวณดอกเบี้ยรายเดือนต่อมา แสดงว่ามิได้มีการเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันอีกเลย ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาอีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงสิ้นสุดลง นับแต่วันที่ตกลงกำหนดไว้ในสัญญาตามที่โจทก์กับจำเลยได้แสดงเจตนากันไว้เช่นนั้นในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและคำขอต่ออายุสัญญา หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้เสียก่อนไม่เพราะได้กำหนดไว้แน่นอนแล้ว อายุความคดีนี้จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2516 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิ เรียกร้องเป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีในวันที่ 21 เมษายน 2529 ซึ่ง เกินกว่า 10 ปีนับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เมื่อหนี้ต้นเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็น หนี้ ประธาน ขาดอายุความเสียแล้ว ดอกเบี้ยอันเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อม ขาดอายุความ ไป ด้วย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2510 และวันที่15 กรกฎาคม 2521 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์วงเงิน 20,000 บาท และ 30,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปี กำหนดชำระคืนภายในวันที่ 25 มิถุนายน 2511 และวันที่ 25มิถุนายน 2513 ตามลำดับ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับถึงกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1ได้ขอต่ออายุสัญญาทั้งสองฉบับออกไปอีกเป็นครบกำหนดชำระหนี้คืนโจทก์ วันที่ 25 มิถุนายน 2516 พร้อมกัน จำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินและนำเงินเข้าหักทอนบัญชีตลอดมาจนสัญญาถึงกำหนด จำเลยที่ 1เป็นลูกหนี้โจทก์ และไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ โจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้อีกต่อไป จึงได้หักทอนบัญชีกับจำเลยที่ 1เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2523 วันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้โจทก์ 155,398.68 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2523 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 117,302.59 บาทรวมเป็นเงิน 272,701.27 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปีของต้นเงิน 155,398.68 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงวันที่ 25มิถุนายน 2516 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2529 เกิน 10 ปีคดีโจทก์จึงขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ก่อนสืบพยานปรากฏว่าจำเลยที่ 2ถึงแก่กรรมก่อนโจทก์ฟ้องคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อครบกำหนดระยะเวลาของสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ 1และโจทก์มิได้มีการหักทอนบัญชีต่อกันและเรียกร้องให้ชำระหนี้ที่เหลือ ยังแสดงว่ามีบัญชีเดินสะพัดอยู่ต่อไปจนกระทั่งมีการหักทอนบัญชีในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2523 และต้องนับอายุความจากวันที่ลงในหนังสือทวงถาม คือวันที่ 12 พฤษภาคม 2526 จนถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีจึงไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อมีการต่ออายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับที่โจทก์ฟ้องไปเป็นวันที่ 25 มิถุนายน 2516 แล้วจำเลยที่ 1 ยังคงเบิกเงินเกินบัญชี และนำเงินเข้าหักทอนบัญชีภายในเวลาอายุสัญญาเท่านั้นครั้งสุดท้ายจำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีไปจากโจทก์เมื่อวันที่ 4เมษายน 2516 ก่อนวันที่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับจะสิ้นสุดลง แต่หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีและโจทก์ได้ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีได้อีก คงมีแต่การคำนวณดอกเบี้ยนำเข้าบัญชีเป็นรายเดือนต่อมาแสดงว่ามิได้มีการเดินสะพัดและหักทอนบัญชีกันอีกเลย ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญาอีกต่อไป สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ตกลงกำหนดไว้ในสัญญาตามที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนากันไว้เช่นนั้นในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งสองฉบับและคำขอต่ออายุสัญญา หาจำต้องบอกเลิกสัญญาหรือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระหนี้เสียก่อนไม่ เพราะได้กำหนดไว้แน่นอนแล้ว อายุความในคดีนี้จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2516 อันเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 21 เมษายน 2529 ซึ่งเกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า เฉพาะดอกเบี้ยนับแต่จำเลยที่ 1 ผิดนัดจนถึงวันฟ้องไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยเป็นค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า เมื่อหนี้ต้นเงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความเสียแล้ว ดอกเบี้ยอันเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมขาดอายุความไปด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความและพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.