คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3656/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยบอกผู้เสียหายว่ามีคนจ้างจำเลยฆ่าผู้เสียหาย แต่ไม่บอกชื่อคนจ้าง พร้อมกันนั้นจำเลยขอเงินผู้เสียหาย ถ้าหากไม่ให้ก็จะไม่รับรองความปลอดภัย ผู้เสียหายตกลงยอมให้และนัดมาเอาเงินในวันรุ่งขึ้น คำพูดของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงินแก่จำเลย อันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว แม้จะใช้คำว่า ‘ขอ’ และ ‘เพื่อบอกชื่อผู้ที่จ้างฆ่า’ ก็เป็นเพียงเหตุผลประกอบการข่มขู่เท่านั้น หาทำให้การข่มขู่นั้นกลายเป็นการเรียกร้องเงินเพื่อตอบแทนการบอกชื่อผู้ว่าจ้างฆ่าผู้เสียหายไม่
มาตรา 192 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติว่า ข้อแตกต่างเกี่ยวกับเวลาเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด จำเลยยอมรับว่าตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้ไปขอเงินผู้เสียหายและผู้เสียหายยอมตกลงจะให้เงินจำเลยจริงเพียงแต่จำเลยอ้างว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยจึงมิได้หลงต่อสู้ในเรื่องเวลา ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดเวลากลางวัน แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเหตุเกิดเวลากลางคืน ศาลก็ลงโทษจำเลยได้
จำเลยข่มขืนใจโดยการข่มขู่จนผู้เสียหายยอมจะให้เงินแก่จำเลยและนัดมารับเงินในวันรุ่งขึ้น ถือได้ว่าการกรรโชกได้สำเร็จแล้วแม้ผู้เสียหายจะยินยอมเพื่อต้องการรู้ตัวผู้จ้างจำเลยและได้นำเจ้าหน้าที่มาคอยจับจำเลยเมื่อมารับเงินในวันรุ่งขึ้น ก็หาทำให้เป็นความผิดฐานพยายามไม่
โจทก์มิได้ฎีกาขอเพิ่มโทษจำเลย ศาลฎีกาจะลงโทษจำเลยหนักกว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามิได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย แต่ศาลฎีกาวางบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ เวลากลางวันจำเลยข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงิน ๕,๐๐๐ บาทแก่จำเลย โดยขู่เข็ญว่ามีผู้ว่าจ้างให้จำเลยฆ่าผู้เสียหาย หากผู้เสียหายให้เงินจำเลยก็จะไม่ฆ่าและจะบอกชื่อผู้ว่าจ้าง ผู้เสียหายตกลงยอมจะให้เงินแก่จำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓๗
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยพยายามกรรโชก พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗, ๘๐
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการข่มขืนใจโดยขู่เข็ญผู้เสียหาย จึงไม่ครบองค์ประกอบเป็นความผิดฐานกรรโชกนั้น ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า จำเลยบอกผู้เสียหายว่ามีคนจ้างจำเลยฆ่านายอนันต์ (ผู้เสียหาย) แต่ไม่บอกชื่อคนจ้าง พร้อมกันนั้นจำเลยขอเงินจากนายอนันต์ ๕,๐๐๐ บาท ถ้าหากไม่ให้ก็จะไม่รับรองความปลอดภัยของนายอนันต์ ผู้เสียหายตกลงยอมให้และนัดมาเอาเงินในวันรุ่งขึ้น เห็นว่า คำพูดของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขู่ผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงิน ๕,๐๐๐ บาทแก่จำเลย หากไม่ให้ก็จะไม่รับรองความปลอดภัยชีวิตของนายอนันต์ อันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกแล้ว แม้จะใช้คำว่า “ขอ” และ “เพื่อบอกชื่อผู้ที่จ้างฆ่า”ก็เป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่งที่เรียกร้องเงินเพื่อประกอบการข่มขู่เท่านั้น หาทำให้การข่มขู่นั้นกลายเป็นการเรียกร้องเงินเพื่อตอบแทนการบอกชื่อผู้ว่าจ้างฆ่านายอนันต์ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดเวลากลางวัน แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเหตุเกิดเวลากลางคืน ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจึงต่างกับฟ้อง และจำเลยหลงต่อสู้ ลงโทษจำเลยไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ นั้น พิเคราะห์แล้ว บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสาม ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๑๐)พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕ ได้บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่า ข้อแตกต่างเกี่ยวกับเวลาเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียด ที่จำเลยอ้างว่าหลงต่อสู้ จำเลยก็ยอมรับว่าตามวันเวลาดังกล่าวจำเลยได้ไปขอเงินผู้เสียหายและผู้เสียหายยอมตกลงจะให้เงินจำเลยจริง แต่จำเลยอ้างว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด เพราะจำเลยมิได้ข่มขืนใจโดยขู่เข็ญผู้เสียหายให้ยอมให้หรือยอมจะให้เงินแก่จำเลยเท่านั้น จำเลยหาได้หลงต่อสู้ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงชั้นพยายามกรรโชกเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่ถูกต้อง เพราะการข่มขืนใจโดยการข่มขู่ของจำเลยจนผู้เสียหายยอมจะให้เงินแก่จำเลย และนัดมารับเงินในวันรุ่งขึ้นตามคำขู่ของจำเลยนั้น ถือได้ว่าการกรรโชกได้สำเร็จแล้ว แม้ผู้เสียหายจะยินยอมเพื่อต้องการรู้ตัวผู้จ้างจำเลยมาฆ่าผู้เสียหายและได้นำเจ้าหน้าที่มาคอยจับจำเลยเมื่อมารับเงินในวันรุ่งขึ้นก็หาทำให้เป็นความผิดฐานพยายามไม่ แต่เนื่องจากโจทก์มิได้ฎีกาขอเพิ่มโทษจำเลยศาลฎีกาจะลงโทษจำเลยหนักกว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามิได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๒ ประกอบด้วย มาตรา ๒๒๕ แต่เห็นสมควรวางบทลงโทษจำเลยเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๗นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share