คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3655/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ตายถือขวดแตกจะแทงจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 วิ่งหนีผู้ตายไล่ตาม จำเลยที่ 1 คว้าไม้ท่อนจะตีผู้ตาย ผู้ตายวิ่งหนีไป จึงถือได้ว่าสิทธิในการป้องกันตนของจำเลยที่ 1 ขาดตอนไปแล้วการที่จำเลยที่ 1 โมโหวิ่งไล่ตามอีก และผู้ตายว่าแน่จริงก็เข้ามาเลย พร้อมทั้งกระโดดเข้าแทงถูกข้อมือซ้ายจำเลยที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 1 หันหลังกลับ พฤติการณ์ของผู้ตายเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ท่อนตีผู้ตายจนถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 และการที่จำเลยที่ 1 ตีผู้ตายหลายครั้งก็เพราะที่เกิดเหตุเป็นที่มืดและเปลี่ยว ประกอบกับผู้ตายมีรูปร่างใหญ่กว่า ทั้งปรากฏจากรายงานการตรวจศพท้ายฟ้องว่าผู้ตายมีบาดแผลหลายแห่งทั้งที่ศีรษะมือซ้าย และข้อศอกซ้าย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ตีในระยะเวลาฉุกละหุกไม่มีโอกาสเลือกที่ตี และไม่อาจทราบได้ว่าจะถูกตรงที่ใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยมิได้เจตนาฆ่า แต่ทำรุนแรงเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ซึ่งแม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 อันเป็นบทที่หนักกว่า ศาลก็ย่อมลงโทษตามมาตรา 290 อันเป็นบทที่เบากว่าได้
เหตุที่เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ตายเข้าไปหาเรื่องและทำร้ายฝ่ายจำเลยก่อน ทั้งผู้ตายมีรูปร่างล่ำสันใหญ่กว่าจำเลยที่ 1ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กำลังศึกษาเล่าเรียน เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้รอการลงโทษจำเลยที่ 1.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันชกต่อยและใช้ไม้ท่อนสี่เหลี่ยมขนาด 3 X 1 นิ้วครึ่ง ยาว 1.20 เมตร 1 ท่อน เป็นอาวุธตีผู้ตายถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33,83, 288 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 72, 33 ลงโทษจำคุกมีกำหนด 3 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงเหลือจำคุก 2 ปี ริบของกลาง ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามฟ้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ลงโทษจำคุกคนละ 18 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามคงเหลือจำคุก จำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 12 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อผู้ตายถือขวดแตกจะแทงจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 วิ่งหนี ผู้ตายไล่ตาม จำเลยที่ 1 คว้าไม้ท่อนจะตีผู้ตาย ผู้ตายวิ่งหนีไป จึงถือได้ว่าสิทธิในการป้องกันตนของจำเลยที่ 1 ขาดตอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 โมโหวิ่งไล่ตามอีก และผู้ตายว่าแน่จริงก็เข้ามาเลยพร้อมทั้งกระโดดเข้าแทงถูกข้อมือซ้ายจำเลยที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 1 หันหลังกลับ พฤติการณ์ของผู้ตายเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยที่ 1 ใช้ไม้ท่อนตีผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 และการที่จำเลยที่ 1 ตีผู้ตาย หลายครั้ง ก็เพราะที่เกิดเหตุเป็นที่มืดและเปลี่ยวประกอบกับผู้ตายมีรูปร่างใหญ่กว่า ทั้งปรากฏจากรายงานการตรวจศพท้ายฟ้องว่า ผู้ตายมีบาดแผลหลายแห่งทั้งที่ศีรษะ มือซ้ายและข้อศอกซ้าย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ตีในระยะเวลาฉุกละหุกไม่มีโอกาสเลือกที่ดี และไม่อาจทราบได้ว่าจะถูกตรงที่ใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำรุนแรงเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 ซึ่งแม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 อันเป็นบทที่หนักกว่าศาลก็ย่อมลงโทษตามมาตรา 290 อันเป็นบทที่เบากว่าได้ อย่างไรก็ตามเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ก็เนื่องจากผู้ตายเข้าไปหาเรื่อง และทำร้ายฝ่ายจำเลยก่อน ทั้งผู้ตายมีรูปร่างล่ำสันใหญ่กว่าจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กำลังศึกษาเล่าเรียนเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน ดังนั้น ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้รอการลงโทษจึงฟังขึ้น
ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานพอที่จะบ่งชี้ว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตาย พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอรับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290, 72 ให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 3 ปี ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด2 ปี และให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share