คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 365/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ การที่จะฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้นจะต้องได้ความว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของโจทก์จำเลยจึงจะมีความผิดฐานบุกรุก หากที่พิพาทเป็นทางสาธารณะการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ เป็นการวินิจฉัยตามข้อหาและคำขอท้ายฟ้องโจทก์ มิได้เกินคำขอ กรณีไม่เป็นการฝ่าฝืน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 ดังนั้นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางที่ประชาชนใช้ร่วมกันเกิน 10 ปี เป็นทางสาธารณะเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ซึ่งห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นต่อสู้วัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นของวัดและที่ธรณีสงฆ์นั้น เท่ากับโจทก์อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทมิใช่ทางสาธารณะแต่เป็นที่ดินของโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างข้อกฎหมายขึ้นปรับกับข้อเท็จจริงที่โต้เถียงดังกล่าว ก็ยังคงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 22.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดคนได้ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณที่ดินของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตและร่วมกันรื้อถอนเสาหลักเขต ประตูซุ้มและรั้วไม้ เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินโจทก์โดยปกติสุข เป็นการทำลายทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 363, 358, 83 และ 90
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งแปดให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7และที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 83 ปรับคนละ500 บาท ข้อหาอื่นให้ยกและยกฟ้องจำเลยที่ 2
โจทก์อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์เฉพาะข้อ 2 วรรค 1 และวรรค 2 นอกนั้นไม่รับเพราะเป็นข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นว่าอุทธรณ์โจทก์ตามข้อ 2 ทั้งวรรค 1 และวรรค 2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีจึงไม่รับวินิจฉัยให้ พิพากษาให้ยกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ตามข้อ 2 วรรค 1 ว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์เท่านั้นแต่ศาลได้พิจารณาว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 เห็นว่า การที่จะฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่นั้น จะต้องได้ความว่าที่พิพาทเป็นที่ดินของโจทก์จำเลยจึงจะมีความผิดฐานบุกรุก หากที่พิพาทเป็นทางสาธารณะการกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกฉะนั้น ที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะ จึงเป็นการวินิจฉัยตามข้อหาตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ มิได้เป็นการเกินคำขอแต่ประการใดกรณีจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยสำหรับอุทธรณ์โจทก์ตามข้อ 2 วรรค 2 ที่ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินของโจทก์เป็นทางที่ประชาชนใช้ร่วมกันติดต่อมาเกิน 10 ปี เป็นทางสาธารณะ ขัดกับพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 34 ซึ่งห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัดในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัดและที่ธรณีสงฆ์ นั้น จึงเท่ากับโจทก์โต้เถียงข้อเท็จจริงว่าทางพิพาทมิใช่เป็นทางสาะารณะแต่เป็นที่ดินของโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างข้อกฎหมายขึ้นปรับกับข้อเท็จจริงที่โต้เถียงดังกล่าวแล้วนั้น ก็ยังคงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอยู่นั่นเองจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา22 ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์และพิพากษาให้ยกอุทธรณ์โจทก์เสียนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.

Share