คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3647/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่1โอนที่พิพาทให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายโดยอ้างว่าจำเลยที่1เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่1ให้การว่าจำเลยที่1มีหน้าที่ต้องขายที่พิพาทให้จำเลยที่2ก่อนไม่ได้ผิดสัญญาคดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่1เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามทำการฉ้อฉลโอนขายที่พิพาทเพื่อหลีกเลี่ยงไม่โอนขายให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายขอให้จำเลยที่1โอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายจำเลยที่1ให้การว่าสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1เป็นเพียงสิทธิตามสัญญาแต่สิทธิของจำเลยที่2กับจำเลยที่1เป็นหน้าที่ตามกฎหมายการโอนทำโดยสุจริตขอให้ยกฟ้องประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1จึงมีเหมือนกันว่าจำเลยที่1เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่1จึงเป็นเรื่องเดียวกันต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา173(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2531 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6428 ซึ่งต่อมาได้แบ่งแยกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 23840 และ 23842 จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าที่ดินจำเลยที่ 1 ทำประโยชน์ทางด้านทิศตะวันตกของโฉนดเลขที่ 6428 จำนวน 25 ไร่เศษ ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหลานจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1539/2531 ของศาลชั้นต้น เพื่อขอให้บังคับจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาพร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายแต่จำเลยทั้งสามร่วมกันทำการฉ้อฉล โดยจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2แกล้งยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นเกี่ยวกับพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 อ้างว่าจำเลยที่ 2เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวทำประโยชน์เพื่อการเกษตร หากจำเลยที่ 1 จะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นจะต้องให้สิทธิแก่จำเลยที่ 2 ซื้อก่อน ขอให้บังคับจำเลยที่ 1ขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2ทราบดีว่าที่ดินทั้งสองโฉนดนั้นจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ทำประโยชน์ทั้งไม่มีสิทธิจะซื้อที่ดินก่อนโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2531 ภายหลังวันที่จำเลยที่ 2 ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1เพียง 4 วัน เท่านั้น ต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2532 จำเลยที่ 1 ทำการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23840 และ 23842 ให้แก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ และจำเลยที่ 2 โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 ในวันเดียวกันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โดยจำเลยที่ 3ทราบดีว่าที่ดินทั้งสองแปลงนั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้เช่าทำประโยชน์และไม่มีสิทธิจะซื้อก่อนโจทก์ และมิได้มีการซื้อขายที่ดินกันจริง เพียงแต่เปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนเท่านั้น ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23840และ 23842 ตำบลนิลเพชร อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ระหว่างจำเลยทั้งสาม ให้แก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่23840 และ 23842 ตำบลนิลเพชร อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมกลับคืนให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามเดิม และให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 23840 และ 23842 แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เคยฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1539/2531 ของศาลชั้นต้น ขอให้โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23840 และ 23842 ตำบลนิลเพชร อำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้ให้การสู้คดีและอยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์กลับมาฟ้องคดีนี้อีกซึ่งมีประเด็นเกี่ยวข้องโดยตรงทั้งทรัพย์สินรายเดียวกัน ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 เพราะมีหน้าที่ตามกฎหมาย หาใช่เป็นการโอนหรือกระทำนิติกรรมใด ๆ อันจำเลยที่ 1กระทำไปทั้งที่รู้ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเพียงสิทธิตามสัญญาแต่สิทธิของจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 นั้นเป็นหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโจทก์ย่อมจะมีสิทธิว่ากล่าวเรียกค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ได้ การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2จึงไม่ทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ยังมีทรัพย์สินที่จะให้โจทก์บังคับคดี การโอนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการโอนโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1แต่ไม่ได้เช่าทางด้านทิศตะวันตกตามฟ้อง จำเลยที่ 2 เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6428 เมื่อปี 2516 และต่อมา 5 ปีเศษ จำเลยที่ 2ลดพื้นที่การทำนาลงบางส่วน คงเช่าที่ดินจำเลยที่ 1 เพียงทางด้านทิศใต้เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่เศษ ซึ่งที่ดินในปัจจุบันก็คือโฉนดเลขที่ 23840 และ 23842 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมพ.ศ. 2524 เพราะจำเลยที่ 2 อยู่ในฐานะผู้เช่าที่ดินพิพาทจึงมีสิทธิเสนอซื้อที่ดินพิพาทในราคาเดียวกันกับที่จำเลยที่ 1จะขายให้โจทก์ได้ก่อน จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23840 และ 23842 โดยเสียค่าตอบแทนและสุจริต ไม่ได้มีเจตนาให้โจทก์เสียเปรียบหรือได้รับความเสียหาย เพราะขณะที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินจากจำเลยที่ 1 โจทก์ทราบดีว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่านาของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 ซึ่งให้สิทธิผู้เช่ามีอำนาจตามกฎหมายที่จะเสนอความประสงค์ขอซื้อที่ดินได้ก่อนบุคคลอื่นหากจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของที่ดินประสงค์จะขายที่ดินจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายให้โจทก์โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้จำเลยที่ 2 แสดงความประสงค์ซื้อที่ดินก่อน โจทก์เข้าทำนิติกรรมโดยรู้อยู่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้เช่าทำนาและรู้ว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายโจทก์จึงไม่สุจริตไม่อาจใช้ยันจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ได้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 23840และ 23842 ตำบลนิลเพชร อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 และนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 เสีย
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23840 และ 23842 ตำบลนิลเพชร อำเภอบางเลนจังหวัดนครปฐม ในราคาไร่ละ 20,000 บาท ให้แก่โจทก์และรับชำระราคาส่วนที่เหลือจากโจทก์ หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยทั้งสามฎีกาข้อแรกว่า คำขอท้ายฟ้องคดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1539/2531 หมายเลขแดงที่ 596/2532 ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 1 ไปทำการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์เป็นเรื่องเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)และเมื่อคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้วฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 596/2532 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 โอนที่พิพาทให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ก่อนไม่ได้ผิดสัญญา คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยทั้งสามโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยทั้งสามทำการฉ้อฉลโอนขายที่พิพาทเพื่อหลีกเลี่ยงไม่โอนขายให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ขอให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินตามโฉนดเลขที่ 23840 และ 23842 ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขาย จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่า สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเพียงสิทธิตามสัญญา แต่สิทธิของจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 เป็นหน้าที่ตามกฎหมายการโอนทำโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง ประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมีเหมือนกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173(1) ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 23840 และ 23842 ให้โจทก์จึงไม่ชอบ ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ต้องห้ามมิให้ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 หรือไม่เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอในส่วนที่ขอให้จำเลยที่ 1โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 23840 และ 23842 ให้โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share