คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาของจำเลยที่ว่า ในการวินิจฉัยคดีนั้น ศาลล่างทั้งสองหยิบยกพยานหลักฐานของจำเลยขึ้นมาพิจารณาแต่เพียงบางส่วน จึงเห็นว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม ถ้าพิจารณาให้ครบถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด การวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 นั้น เป็นฎีกาโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลโดยการโต้เถียงข้อเท็จจริง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นมากล่าวอ้างนั้น เป็นข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องและที่จำเลยให้การรับซึ่งฟังเป็นยุติแล้ว ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้ไม่ได้
เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อความที่จำเลยลงโฆษณานั้นเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ร่วมแล้ว จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิที่จะนำข้อความหมิ่นประมาทนั้นไปลงประกาศในหนังสือพิมพ์หรือไม่เพราะจำเลยไม่มีสิทธิที่จะกระทำการอันเป็นความผิดต่อกฎหมายได้ ที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า จำเลยมีสิทธิลงประกาศในหนังสือพิมพ์หรือไม่ไม่ได้ทำให้การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ โดยให้การใหม่ว่า ตามวันเวลาที่โจทก์กล่าวหา จำเลยได้ส่งข้อความตามที่ฟ้องไปลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รวมประชาชาติธุรกิจและหนังสือพิมพ์ภาษาจีนชื่อซิงจงเอี๋ยน จริงตามฟ้อง แต่จำเลยไม่ต้องรับโทษเพราะมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกล่าวหรือส่งข้อความตามฟ้องไปลง
ศาลชั้นต้นสั่งว่า เมื่อจำเลยยอมรับว่าได้ส่งข้อความตามฟ้องไปลงหนังสือพิมพ์จริง ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังยุติ ว่าจำเลยเป็นผู้กล่าวข้อความและนำข้อความนั้นไปลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ตามฟ้องปัญหาคงมีเพียงว่า จำเลยมีสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้นหรือไม่ ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์ คงให้จำเลยนำสืบตามข้อกล่าวอ้าง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อความที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์รวมประชาติธุรกิจ ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทส่วนที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์ภาษาจีน ไม่เป็นการหมิ่นประมาท พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖, ๓๒๘ ให้จำคุก ๑ เดือน๑๕ วัน ปรับ ๑,๕๐๐ บาท ลดโทษหนึ่งในสามตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอไว้ ๑ ปี
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายจึงสั่งรับฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า ในการวินิจฉัยคดีนั้น ศาลล่างทั้งสองหยิบยกพยานหลักฐานของจำเลยขึ้นมาพิจารณาแต่เพียงบางส่วน จึงเห็นว่าจำเลยกระทำผิด ถ้าพิจารณาให้ครบถ้วนแล้วจะเห็นได้ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด การวินิจฉัยคดีของศาลล่างทั้งสองดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๗ เห็นว่า ฎีกาของจำเลยดังกล่าวเป็นฎีกาโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลโดยการโต้เถียงข้อเท็จจริงจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นมากล่าวอ้างนั้นเป็นข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องและที่จำเลยให้การรับซึ่งฟังเป็นยุติแล้ว ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยให้ไม่ได้
ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยได้อุทธรณ์ว่า จำเลยมีสิทธิลงประกาศในหนังสือพิมพ์หรือไม่การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๐ (๒) ซึ่งต้องนำมาใช้ในคดีอาญา คือต้องพิจารณาตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดและที่จำเลยอุทธรณ์นั้น เห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อความที่จำเลยลงโฆษณานั้น เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์ร่วมแล้ว จึงไม่มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิที่จะนำข้อความหมิ่นประมาทนั้นไปลงประกาศในหนังสือพิมพ์หรือไม่เพราะจำเลยไม่มีสิทธิที่จะกระทำการอันเป็นความผิดต่อกฎหมายได้ จึงไม่ได้ทำให้การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน.

Share