คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 364/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นคนไทยไปปล้นทรัพย์ในประเทศลาว ดังนี้คดีก็ต้องด้วยกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 10(4) และเมื่อคดีได้ความบริบูรณ์ทุกประการตามความในมาตรา 10(4) แล้วก็ลงโทษจำเลยตามมาตรา 301 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 5 มีอาวุธปืนเบรานิงส์หนึ่งกระบอกกับซองกระสุน 1 อันโดยมิได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งห้าได้สมคบกันปล้นทรัพย์ของผู้มีชื่อไปหลายอย่าง เหตุเกิดที่ตำบลน้ำปึก อำเภอห้วยทราย เมืองหลวงน้ำทา ประเทศลาว ผู้แทนรัฐบาลประเทศนั้นและเจ้าทุกข์ได้ร้องขอให้ลงโทษจำเลย และความผิดที่จำเลยได้กระทำนี้กฎหมายประเทศลาวบัญญัติว่าจะต้องถูกลงอาญา ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 301 ที่แก้ไขและตามมาตรา 10, 71, 72 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ 2490 มาตรา 7, 72 ฯลฯ

จำเลยทั้งห้าปฏิเสธ พลเสาจำเลยที่ 5 รับว่ามีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง และนายส่งจำเลยที่ 1 รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษไปยังไม่เกิน 5 ปีจริง และจำเลยต่อสู้ในข้อกฎหมายว่าจำเลยไม่ผิด

ศาลชั้นต้นเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และ 3, 4, 5 เป็นคนร้ายปล้นทรัพย์รายนี้จริง พิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 10 ปีตาม มาตรา 301 ที่แก้ไข และจำเลยที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 72 ให้ปรับอีก 300 บาท เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 72 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือนแต่ให้ลดฐานปราณีตาม มาตรา 59 กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 6 ปี 8 เดือนปืนกับซองกระสุนริบ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่เจ้าทุกข์ คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 เป็นที่สงสัยให้ยกฟ้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และ 3, 4, 5 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อเท็จจริงฟังได้ชัดว่าจำเลยที่ 1, 3, 4, 5 ได้สมคบกันปล้นทรัพย์รายนี้จริง ส่วนข้อกฎหมายที่จำเลยต่อสู้ว่าความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 301 ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 10 ซึ่งผู้กระทำผิดนอกประเทศจะต้องรับอาญาภายในราชอาณาจักร โดยมิใช่ความผิดตามมาตรา 10ข้อ 1, 2, 3 นั้นหาถูกต้องไม่ คดีนี้ต้องบังคับตามมาตรา 10 ข้อ 4 อันเป็นคดีที่คนในบังคับไทยไปกระทำผิดนอกประเทศและไม่จำกัดความผิดแต่เพียงบางประเภทเช่นในข้อ 1, 2 และ 3 ถ้าเป็นความผิดที่กฎหมายของประเทศที่เกิดเหตุและกฎหมายไทยมีบัญญัติว่าผู้กระทำผิดจะต้องถูกลงอาญาและต้องตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้แล้ว ผู้ที่ไปกระทำผิดก็จะต้องรับอาญาภายในราชอาณาจักรดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 ข้อ 4 และคดีนี้ก็ได้ความบริบูรณ์ทุกประการแล้วฎีกาของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยเสีย

Share