แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในฎีกาของโจทก์ ทนายโจทก์ลงชื่อจะมาทราบคำสั่งศาลในวันที่ 23 ธันวาคม 2537 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537 ดังนี้ ถือว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้นำส่งสำเนาฎีกาแก่จำเลยที่ 2 ภายใน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 23ธันวาคม 2537 แล้ว เมื่อโจทก์ไม่นำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้น ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องฎีกาสำหรับจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบด้วยมาตรา 246, 247
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 192,500 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ โจทก์มิได้อุทธรณ์เท่ากับโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ชำระให้โจทก์ ทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์คงมีจำนวน 192,500 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาจึงมีเพียง192,500 บาท ซึ่งไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคแรก และจะนำดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตมารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพื่อให้เกินสองแสนบาทหาได้ไม่ อีกทั้งโจทก์จะฎีกาโดยถือตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องในศาลชั้นต้นก็ไม่ได้เช่นกัน
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า โจทก์มิใช่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกพ่วงคันพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้อง การที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกพ่วงคันพิพาท จึงมีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นอ้าง เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248วรรคแรก