แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยกระทำผิดกฎหมายสุรา การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ได้บรรยายไว้ในฟ้องเป็นความผิดทั้งกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีเป็นเวลาที่ใช้กฎหมายใหม่แล้วโจทก์จึงอ้างกฎหมายฉบับใหม่มาขอให้ลงโทษไม่อ้างกฎหมายเก่ามาด้วย ดังนี้ก็ถือว่าเป็นการเพียงพอแล้ว เพราะถ้าศาลพิจารณาได้ความสมจริงตามฟ้อง ศาลก็จะใช้กฎหมายฉบับที่เป็นคุณแก่จำเลย โดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 8
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.สุรา พ.ศ.2493 มาตรา 41, 32, 33, 34
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า กฎหมายสุราที่โจทก์อ้างท้ายฟ้องยังมิได้ใช้บังคับในวันที่โจทก์หาว่าจำเลยกระทำผิด โจทก์มิได้อ้างว่ากฎหมายสุราเก่า ซึ่งบัญญัติวาการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดเข้ามาด้วย ฟ้องจึงไม่สมบูรณ์และจะฟังว่าอ้างกฎหมายผิดตาม วิ.อาญามาตรา 192 วรรคสี่ ก็ไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่ได้อ้างกฎหมายเก่าเข้ามาเลย จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ดำเนินการพิจารณา
พิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายไว้ในฟ้อง เป็นความผิดทั้งกฎหมายเก่าและกฎหมายใหม่แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นเวลาที่ใช้กฎหมายใหม่ โจทก์จึงอ้างกฎหมายฉบับใหม่มาขอให้ลงโทษ ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริงสมตามฟ้องก็จะต้องพิเคราะห์ว่ากฎหมายฉบับใดมีโทษเบาแก่ผู้ต้องหา คือจำเลยศาลก็ใช้กฎหมายฉบับที่เป็นคุณนั้นแก่จำเลยโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 8 ไม่จำเป็นที่โจทก์จะต้องอ้าง (กฎหมาย) มาทั้งสองฉบับ เพราะเป็นกฎหมายที่ใช้แทนที่กัน ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดมาชอบแล้ว
พิพากษายืน