คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3629/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมโดยขอเปลี่ยนตัวพยานจาก ร. มาเป็น ท. ภายหลังจากโจทก์ซึ่งมีหน้าที่สืบพยานก่อนได้สืบพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ในคำร้องอ้างเหตุเพียงว่า ร. ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการและพนักงานของจำเลยแล้ว ไม่สามารถตามตัวได้ มิได้อ้างเหตุที่เกี่ยวกับพยานที่ระบุเพิ่มเติมซึ่งไม่ใช่เหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม ที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยระบุพยานเพิ่มเติมได้ ทั้งประเด็นที่จะสืบ ท. ก็มีเพียงเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยและกิจการของจำเลยซึ่งโจทก์ได้นำสืบยอมรับแล้วว่าจำเลยมีความรับผิดตามข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้นดังนั้น ประเด็นที่จำเลยจะสืบ ท. จึงไม่ใช่ข้อสำคัญแห่งประเด็นที่จำเลยจำเป็นจะต้องนำสืบเพื่อให้คำวินิจฉัยของศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ชอบที่จะไม่อนุญาตให้จำเลยระบุ ท. เป็นพยานเพิ่มเติม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บสาหัส และรถยนต์ของโจทก์เสียหาย เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นนายจ้าง โดยจำเลยที่ ๒ นำไปเข้าร่วมกิจการขนส่งกับจำเลยที่๓ จำเลยที่ ๔ เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันวินาศภัยรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ ได้ตกลงจะซ่อมรถยนต์ให้โจทก์แล้วไม่จัดการให้ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๓,๒๕๖,๑๕๙ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิได้ขับรถยนต์โดยประมาท แต่โจทก์เป็นฝ่ายประมาท จำเลยที่ ๑ มิได้กระทำการไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๕ มีความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท แต่จะต้องหักค่าเสียหายที่จำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดเองเป็นเงิน ๑,๐๐๐ บาท ออกก่อน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ๔๙๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยจำเลยที่ ๕ ร่วมรับผิดพียง ๙๙,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๔
โจทก์และจำเลยที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ร่วมกันชำระเงิน ๑,๕๗๙,๙๘๙ บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ ๕ ร่วมรับผิดในวงเงิน ๙๙,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว จำเลยที่ ๑ กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ แล้ววินิจฉัยฎีกาข้อสุดท้ายที่จำเลยที่ ๕ ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๕ ระบุพยานเพิ่มเติมโดยเปลี่ยนตัวพยานเป็นการไม่ชอบนั้นว่า จำเลยที่ ๕ ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมโดยขอเปลี่ยนตัวพยานจากนายรังสรรค์ กำจรชน มาเป็นนายทักษิณ เศพละกุล ภายหลังจากโจทก์ซึ่งมีหน้าที่สืบพยานก่อนได้สืบพยานหลักฐานเสร็จแล้ว และในคำร้องของจำเลยที่ ๕ อ้างเหตุเพียงวา นายรังสรรค์ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการและพนักงานของจำเลยที่ ๕ ไม่สามารถตามตัวได้ โดยมิได้อ้างเหตุที่เกี่ยวกับพยานที่ระบุเพิ่มเติมซึ่งไม่ใช่เหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๘ วรรสาม ที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาติให้จำเลยที่ ๕ ระบุพยานเพิ่มเติมได้ ทั้งประเด็นที่จะสืบนายทักษิณพยานที่จำเลยที่ ๕ อ้างเพิ่มเติม ก็มีเพียงเกี่ยวกับเรื่องกรมธรรม์ประกันภัยและกิจการของจำเลยที่ ๕ ซึ่งโจทก์ได้นำสืบยอมรับแล้วว่าจำเลยที่ ๒ นำรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ ๒ คันเกิดเหตุไปประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๕ และจำเลยที่ ๕ มีความรับผิดตามข้อความในกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย ล.๖ ดังนั้นประเด็นที่จำเลยที่ ๔จะสืบนายทักษิณพยานซึ่งระบุเพิ่มเติมจึงไม่ใช่ข้อสำคัญแห่งประเด็นที่จำเลยที่ ๕ จำเป็นจะต้องนำสืบเพื่อให้คำวินิจฉัยของศาลเป็นไปโดยเที่ยงธรรม ที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยที่ ๕ ระบุนายทักษิณเป็นพยานเพิ่มเติมจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว
พิพากษายืน

Share