คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3625/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก. ว่า จำเลยใช้ขวดสุราเป็นอาวุธตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 โดยแรง 1 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ฟ้องข้อ ข. ว่า ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ ก. ภายหลังจากจำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยใช้กุญแจตัดเหล็กเป็นอาวุธที่ประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ เห็นได้ว่า ภายหลังจากที่จำเลยใช้ขวดสุราเป็นอาวุธตีทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ในเวลาต่อเนื่องกันจำเลยก็ได้ใช้กุญแจตัดเหล็กเป็นอาวุธทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 อีก ดังนี้ เป็นเรื่องที่จำเลยต้องการทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ให้ได้รับอันตรายแก่กายตามเจตนาเดิมและเจตนาเดียวของจำเลยนั้นเอง อันเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันแม้จำเลยกระทำหลายครั้ง การกระทำของจำเลยก็ยังถือว่าเป็นการกระทำครั้งเดียวกัน จึงเป็นกรรมเดียวมิใช่หลายกรรม การที่โจทก์บรรยายฟ้องแยกเป็น ข้อ ก. และข้อ ข. เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลจะลงโทษจำเลยหลายกระทงไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๕, ๙๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ลดโทษแล้วจำคุก ๒ เดือน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก. จำเลยใช้ขวดสุราเป็นอาวุธตีทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ ๑ โดยแรง ๑ ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ ๑ ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ข. ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้องข้อ ก. ภายหลังจากจำเลยได้กระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยใช้กุญแจตัดเหล็กเป็นอาวุธตีประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ ๑ เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ ๑ ได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ภายหลังจากที่จำเลยใช้กุญแจตัดเหล็กเป็นอาวุธทำร้ายผู้เสียหายที่ ๑ อีก ดังนี้ กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยต้องการทำร้ายผู้เสียหายที่ ๑ ให้ได้รับอันตรายแก่กายตามเจตนาเดิมและเจตนาเดียวของจำเลยนั่นเอง อันเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันแม้จำเลยกระทำหลายครั้งการกระทำของจำเลยก็ยังถือว่าเป็นการกระทำครั้งเดียวกันจึงเป็นกรรมเดียวตามกฎหมายมิใช่เป็นความผิดหลายกรรมดังที่โจทก์ฎีกา การที่โจทก์จะแยกบรรยายการกระทำผิดดังกล่าวของจำเลยมาในฟ้องเป็น ข้อ ก. และข้อ ข. เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพก็ตามก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลจะลดโทษจำเลยหลายกระทงความผิดไม่ได้
พิพากษายืน

Share