คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3622/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ มาตรา 56 วรรคหนึ่ง หากผู้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนมิได้ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิรับประโยชน์ทดแทนตามปกติบุคคลนั้นย่อมเสียสิทธิ แต่เมื่อมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาดก็ต้องแปลว่า การที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธินั้นต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุอันสมควรเหรือมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุผลอันสมควรหรือความจำเป็นต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำฟ้องของโจทก์ว่า สาเหตุที่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพภายใน 1 ปี นับแต่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเนื่องจากโจทก์ไม่ทราบว่าจะต้องยื่นคำขอภายในกำหนดดังกล่าว และโจทก์อ้างว่าเมื่อสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นแล้วจำเลยก็น่าจะแจ้งให้โจทก์ทราบ ดังนี้ ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวมิใช่เหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิล่าช้าแต่อย่างใด การที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน โจทก์ย่อมเสียสิทธิดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ รส.0717/18877 และคำวินิจฉัยที่ 513/2544 ของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพเป็นเงินบำเหน็จแก่โจทก์ตามกฎหมาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งที่ รส.0717/18877 และคำวินิจฉัยที่ 513/2544 ของคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลย ให้จำเลยจ่ายบำเหน็จชราภาพให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 56 บัญญัติว่า “ผู้ประกันตนหรือบุคคลอื่นใดเห็นว่าตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 และประสงค์จะขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น ให้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อสำนักงานตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนนั้น และให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมายพิจารณาสั่งการโดยเร็ว
ประโยชน์ทดแทนตามวรรคหนึ่งที่เป็นตัวเงิน ถ้าผู้ประกันตนหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิไม่มารับภายในสองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงาน ให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน” จะเห็นได้ว่าแม้ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจะมีสิทธิพึงได้รับประโยชน์ทดแทนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 แล้วก็ตาม แต่หากบุคคลดังกล่าวประสงค์ขอรับประโยชน์ทดแทน บุคคลนั้น ๆ ก็จะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติข้างต้นซึ่งเป็นข้อกำหนดในเรื่องระยะเวลาและวิธีการขอรับประโยชน์ทดแทน ดังจะเห็นได้จากความในวรรคสองว่า แม้สำนักงานประกันสังคมจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวรับประโยชน์ทดแทนที่เป็นตัวเงินแล้วก็ตาม แต่หากบุคคลดังกล่าวไม่มารับภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานประกันสังคมให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุนประกันสังคม ดังนั้น หากผู้ยื่นคำขอมิได้ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนตามปกติบุคคลนั้นก็ย่อมเสียสิทธิ แต่เมื่อมาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ได้บัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาดก็ต้องแปลว่า การที่ผู้ยื่นคำขอยื่นคำขอเกินกำหนดระยะเวลา 1 ปี อันจะทำให้ผู้ยื่นคำขอต้องเสียสิทธินั้นต้องเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่มีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้า หากผู้ยื่นคำขอมีเหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่ต้องใช้สิทธิล่าช้าก็จะนำระยะเวลาดังกล่าวมาตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอเสียทีเดียวหาได้ไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำฟ้องของโจทก์ว่าสาเหตุที่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพภายใน 1 ปี นับแต่สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างนั้นเนื่องจากโจทก์ไม่ทราบว่าจะต้องยื่นคำขอภายในกำหนดดังกล่าว และโจทก์อ้างว่าเมื่อสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นแล้วจำเลยก็น่าจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ เห็นว่า ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าโจทก์ไม่ทราบว่าจะต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่โจทก์สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างนั้น มิใช่เหตุอันสมควรหรือความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิล่าช้าอันจะถือเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่จำต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นแต่อย่างใด และข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าเมื่อสิทธิของโจทก์เกิดขึ้นแล้วจำเลยก็น่าจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบนั้น เห็นว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มิได้มีบทบัญญัติใดที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยจะต้องแจ้งถึงสิทธิและกำหนดเวลาในการขอรับประโยชน์ทดแทนต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิทราบ ฉะนั้นการที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทน โจทก์ย่อมเสียสิทธิดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share