แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่กรมสรรพากรจำเลยที่ 1 ใช้มาตรฐานในการคำนวณต้นทุนสินค้าตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค.0810/13252ลงวันที่ 29 กันยายน 2530 ซึ่งได้กำหนดแนวทางการตรวจสอบผู้ประกอบกิจการค้าพืชผลการเกษตรหากไม่สามารถพิสูจน์ผู้ขายได้ ให้ถือราคารับซื้อตามราคาตลาดที่ปรากฏในเอกสารของส่วนราชการนั้น อาจเกิดข้อผิดพลาดได้ เพราะตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่ไม่ปรากฏเหตุผลว่าโจทก์ซื้อมันเส้นในราคาสูงไปอย่างไร การที่จำเลยที่ 1 ไม่เชื่อถือ ใบสำคัญหรือหลักฐานแสดงการรับจ่ายเงินค่ามันเส้นของโจทก์ที่สุ่มมา ตรวจสอบเพียงบางฉบับ มิใช่เหตุที่จะฟังว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์สูงเกินสมควร เพราะราคาซื้อขายมันเส้นโดยทั่วไปมิได้มีราคาตายตัวหรือมีราคาเดียว และราคาซื้อขายมันเส้นโดยเฉลี่ยของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาที่จำเลยที่ 1นำมาใช้เป็นเกณฑ์คำนวณมีทั้งที่สูงและต่ำกว่าราคาที่โจทก์ระบุว่ารับซื้อมันเส้นจากผู้ค้าพืชไร่ อีกทั้งโจทก์ตรวจสอบคุณภาพมันเส้นที่จะรับซื้อด้วยว่ามีค่าความชื้นและสิ่งปนเปื้อน เกินมาตรฐานที่โจทก์กำหนดหรือไม่โดยหากปรากฏว่ามันเส้นที่จะรับซื้อมีค่าความชื้นหรือสิ่งปนเปื้อน เกินมาตรฐานโจทก์จะคำนวณนำหนักมันเส้นโดยตัดน้ำหนักตามเปอร์เซ็นต์ความชื้นหรือสิ่งปนเปื้อนที่เกินมาตรฐานและคำนวณเงินค่ามันเส้นที่ต้องจ่ายให้ผู้ขายจากน้ำหนักสุทธิภายหลังการตัดน้ำหนักดังกล่าวแล้ว ส่วนการซื้อขายมันเส้นที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาจัดทำไม่ปรากฏว่าราคาซื้อขายมันเส้นได้นำมาจากการซื้อขายเช่นกรณีของโจทก์หรือไม่ ดังนั้นการที่โจทก์รับซื้อมันเส้นในราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาก็อาจอยู่ภายในกรอบของราคาตลาดได้ มิใช่แสดงว่าราคาที่โจทก์ซื้อสูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นอกจากนี้โจทก์ยังนำสืบแสดงหลักฐานการจ่ายเงินค่ามันเส้นว่าโจทก์จ่ายเป็นเช็ค โดยในใบสำคัญจ่ายจะระบุชื่อธนาคารและหมายเลขเช็คซึ่งสามารถตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินได้จากบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ รวมทั้งโจทก์ยังบันทึกรายการซื้อมันเส้นในสมุดรายวันซื้อด้วย โดยจำเลยทั้งสี่ก็มิได้นำสืบโต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้อง แต่กลับยอมรับว่าเมื่อได้ตรวจสอบบัญชีกระแสรายวันของโจทก์แล้วพบว่ายอดเงินตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายและมีการนำมาเรียกเก็บแต่ละยอดตรงกับยอดเงินตามใบรับเงินที่โจทก์อ้างว่าจ่ายเป็นค่าซื้อมันเส้นดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะตรวจสอบรายจ่ายโดยเรียกผู้มีชื่อที่ระบุว่าขายมันเส้นให้โจทก์มาสอบถามแล้ว พบว่าหลักฐานการซื้อขายมันเส้นของโจทก์บางรายการไม่น่าเชื่อถือก็หาอาจสรุปว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์ทั้งหมดทุกรายการเป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับเนื่องจากการตรวจสอบของจำเลยทั้งสี่เพียงแต่ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากรายชื่อผู้ขายบางส่วนเท่านั้น มิได้ตรวจสอบจากเอกสารการจ่ายเงินของโจทก์ทุกรายการ และมิได้ให้โอกาสโจทก์พิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงินทั้งหมด การตรวจสอบและให้โจทก์พิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงินเพียงบางส่วนจากสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาจทราบได้ว่าจำนวนเงินรายจ่ายในส่วนที่มีการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบนี้เป็นเงินเท่าใด จึงไม่ชอบที่จะถือว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นทั้งหมดของโจทก์เป็นรายจ่ายที่ไม่อาจพิสูจน์ตัวผู้รับได้ แต่กลับฟังได้ว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์เป็นรายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปจริง มิใช่รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับและมิใช่รายจ่ายค่าซื้อสินค้าที่สูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันจะถือว่าเป็นรายจ่าย ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(15) และ(18) แม้ในขั้นตอนการตรวจสอบและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโจทก์มีรายได้จากการขายมันอัดเม็ดต่ำไป แต่จากข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบมิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 พบว่าโจทก์ได้ขายมันอัดเม็ดไปจริงแล้วแสดงรายได้จากการขายมัดอัดเม็ดต่ำไปหากแต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายมันอัดเม็ดสูงกว่าที่แสดงไว้เนื่องมาจากจำเลยที่ 1 คำนวณการสูญเสียน้ำหนักในขั้นตอนการผลิตมันอัดเม็ดของโจทก์ โดยใช้วิธีบวกน้ำหนักมันเส้นที่โจทก์ตัดออกในขณะรับซื้อกลับเข้ามาเป็นฐานในการคำนวณ จึงทำให้ตัวเลขแสดงยอดมันอัดเม็ดที่ควรผลิตได้สูงกว่าที่โจทก์ระบุในบัญชีขาย แล้วจำเลยที่ 1จึงถือว่าจำนวนมัดอัดเม็ดที่ขาดหายไปเป็นการขายของโจทก์การประเมินด้วยวิธีการเช่นนี้เท่ากับเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1เห็นว่าโจทก์มีสินค้าขาดจากบัญชีคุมสินค้า จึงให้ถือว่าเป็นการขายสินค้าและให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 79 ทวิ(6)เดิม ที่ใช้ บังคับในขณะนั้น ซึ่งการประเมินด้วยวิธีการตามมาตรา 79 ทวิ(6)เดิมเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่ภาษีการค้า หาได้มีบทบัญญัติให้นำไปใช้ในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ให้ถือว่ายอดมันอัดเม็ด ที่ขาดไปจากบัญชีขายของโจทก์เป็นการขายเพื่อถือเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ 30 14/2/100001 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2536 หนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิ ที่ กค.0843/2292 ลงวันที่24 มีนาคม 2536 หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล เลขที่ 30 14/2/100003 ลงวันที่ 21 เมษายน 2537 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 0843/4/2538 และเลขที่ 0843/5/2538 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2538 เฉพาะรายการที่ประเมินและวินิจฉัยว่าโจทก์มีต้นทุนซื้อมันเส้นสูงไป และแสดงรายได้จากการขายมันอัดเม็ดต่ำไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อแรกว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับรายจ่ายค่ามันเส้นของโจทก์ชอบด้วยตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี(15) และ (18) หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1ใช้มาตรฐานในการคำนวณต้นทุนสินค้าตามหนังสือกรมสรรพากรที่ กค.0810/13252 ลงวันที่ 29 กันยายน 2530 ซึ่งได้กำหนดแนวทางการตรวจสอบผู้ประกอบกิจการค้าพืชผลการเกษตรหากไม่สามารถพิสูจน์ผู้ขายได้ ให้ถือราคารับซื้อตามราคาตลาดที่ปรากฏในเอกสารของส่วนราชการนั้น อาจเกิดข้อผิดพลาดได้เพราะตามทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่ไม่ปรากฏเหตุผลว่าโจทก์ซื้อมันเส้นในราคาสูงไปอย่างไร การที่จำเลยที่ 1 ไม่เชื่อถือใบสำคัญหรือหลักฐานแสดงการรับจ่ายเงินค่ามันเส้นของโจทก์ที่สุ่มมาตรวจสอบเพียงบางฉบับ มิใช่เหตุที่จะฟังว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์สูงเกินสมควร เพราะราคาซื้อขายมันเส้นโดยทั่วไปมิได้มีราคาตายตัวหรือมีราคาเดียว นางสาวขวัญใจ ศิระพิมลเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 พยานจำเลยทั้งสี่ก็เบิกความว่าราคาซื้อขายมันเส้นโดยเฉลี่ยของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาที่จำเลยที่ 1 นำมาใช้เป็นเกณฑ์คำนวณมีทั้งที่สูงและต่ำกว่าราคาที่โจทก์ระบุว่ารับซื้อมันเส้นจากผู้ค้าพืชไร่ ทั้งยังได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่าโจทก์ตรวจสอบคุณภาพมันเส้นที่จะรับซื้อด้วยว่ามีค่าความชื้นและสิ่งปนเปื้อนเกินมาตรฐานที่โจทก์กำหนดหรือไม่ โดยหากปรากฏว่ามันเส้นที่จะรับซื้อมีค่าความชื้นหรือสิ่งปนเปื้อนเกินมาตรฐาน โจทก์จะคำนวณน้ำหนักมันเส้นโดยตัดน้ำหนักตามเปอร์เซ็นต์ความชื้นหรือสิ่งปนเปื้อนที่เกินมาตรฐานและคำนวณเงินค่ามันเส้นที่ต้องจ่ายให้ผู้ขายจากน้ำหนักสุทธิภายหลังการตัดน้ำหนักดังกล่าวแล้ว ส่วนการซื้อขายมันเส้นที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาจัดทำไม่ปรากฏว่าราคาซื้อขายมันเส้นได้นำมาจากการซื้อขายเช่นกรณีของโจทก์หรือไม่ ดังนั้น การที่โจทก์รับซื้อมันเส้นในราคาสูงหรือต่ำกว่าราคาเฉลี่ยของสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมาก็อาจอยู่ภายในกรอบของราคาตลาดได้ มิใช่แสดงว่าราคาที่โจทก์ซื้อสูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร นอกจากนี้โจทก์ยังนำสืบแสดงหลักฐานการจ่ายเงินค่ามันเส้นว่าโจทก์จ่ายเป็นเช็คดังปรากฏตามต้นขั้วเช็คเอกสารหมาย จ.21 (จำนวน 4 ซอง)โดยในใบสำคัญจ่ายจะระบุชื่อธนาคารและหมายเลขเช็ค ซึ่งสามารถตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินได้จากบัญชีกระแสรายวัน ของโจทก์ ตามการ์ดบัญชีเอกสารหมาย จ.3 จ.15 จ.16 จ.17 จ.18และ จ.20 รวมทั้งโจทก์ยังบันทึกรายการซื้อมันเส้นในสมุดรายวันซื้อตามเอกสารหมาย จ.12 ด้วย โดยจำเลยทั้งสี่ก็มิได้นำสืบโต้แย้งว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้อง ทั้งกรณีกลับได้ความจากนางสาวขวัญใจ พยานจำเลยซึ่งเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พยานได้ตรวจสอบบัญชีกระแสรายวันของโจทก์แล้วพบว่ายอดเงินตามเช็คที่โจทก์สั่งจ่ายและมีการนำมาเรียกเก็บแต่ละยอดตรวจกับยอดเงินตามใบรับเงินที่โจทก์อ้างว่าจ่ายเป็นค่าซื้อมันเส้น ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะตรวจสอบรายจ่ายโดยเรียกผู้มีชื่อที่ระบุว่าขายมันเส้นให้โจทก์มาสอบถามแล้วเห็นว่าหลักฐานการซื้อขายมันเส้นของโจทก์บางรายการไม่น่าเชื่อถือ ก็หาอาจสรุปว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์ทั้งหมดทุกรายการเป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ เนื่องจากการตรวจสอบของจำเลยทั้งสี่เพียงแต่ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างจากรายชื่อผู้ขายบางส่วนเท่านั้น มิได้ตรวจสอบจากเอกสารการจ่ายเงินของโจทก์ทุกรายการ และมิได้ให้โอกาสโจทก์พิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงินทั้งหมด การตรวจสอบและให้โจทก์พิสูจน์หลักฐานการจ่ายเงินเพียงบางส่วนจากสุ่มตัวอย่างโดยไม่อาจทราบได้ว่าจำนวนเงินรายจ่ายในส่วนที่มีการสุ่มตัวอย่างตรวจสอบนี้เป็นเงินเท่าใด จึงไม่ชอบที่จะถือว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นทั้งหมดของโจทก์เป็นรายจ่ายที่ไม่อาจพิสูจน์ตัวผู้รับได้ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังได้ว่ารายจ่ายค่าซื้อมันเส้นของโจทก์เป็นรายจ่ายที่โจทก์จ่ายไปจริง มิใช่รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ และมิใช่รายจ่ายค่าซื้อสินค้าที่สูงเกินปกติโดยไม่มีเหตุอันสมควรอันจะถือว่าเป็นรายจ่าย ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี(15) และ (18)
ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ให้ถือว่ายอดมันอัดเม็ดที่ขาดไปจากบัญชีขายของโจทก์เป็นการขายเพื่อถือเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลชอบหรือไม่นั้นเห็นว่า แม้ในขั้นตอนการตรวจสอบและการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโจทก์มีรายได้จากการขายมัดอัดเม็ดต่ำไป แต่จากข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบมิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 พบว่าโจทก์ได้ขายมัดอัดเม็ดไปจริงแล้วแสดงรายได้จากการขายมัดอัดเม็ดต่ำไป แต่เหตุที่จำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายมัดอัดเม็ดสูงกว่าที่แสดงไว้เนื่องมาจากจำเลยที่ 1 คำนวณการสูญเสียน้ำหนักในขั้นตอนการผลิตมันอัดเม็ดของโจทก์โดยใช้วิธีบวกน้ำหนักมันเส้นที่โจทก์ตัดออกในขณะรับซื้อกลับเข้ามาเป็นฐานในการคำนวณจึงทำให้ตัวเลขแสดงยอดมันอัดเม็ดที่ควรผลิตได้สูงกว่าที่โจทก์ระบุในบัญชีขาย แล้วจำเลยที่ 1 จึงถือว่าจำนวนมันอัดเม็ดที่ขาดหายไปเป็นการขายของโจทก์ การประเมินด้วยวิธีการเช่นนี้เท่ากับเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์มีสินค้าขาดจากบัญชีคุมสินค้าจึงให้ถือว่าเป็นการขายสินค้า และให้ถือมูลค่าของสินค้าดังกล่าวเป็นรายรับตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรมาตรา 79 ทวิ(6) เดิมที่ใช้บังคับในขณะนั้น ซึ่งการประเมินด้วยวิธีการตามมาตรา 79 ทวิ(6) เดิมเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่ภาษีการค้า หาได้มีบทบัญญัติให้นำไปใช้ในการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ให้ถือว่ายอดมันอัดเม็ดที่ขาดไปจากบัญชีขายของโจทก์เป็นการขายเพื่อถือเป็นเงินได้ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายืน