แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ปัญหาว่า การที่โจทก์ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534 แล้วทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่จำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเพื่อเพิ่มเติมปัญหาดังกล่าวขึ้นเป็นประเด็นในศาลภาษี-อากรกลาง แม้ศาลภาษีอากรกลางได้ยกคำร้องดังกล่าวของโจทก์ไปแล้วก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2539 กระทรวงการคลังได้มีประกาศเรื่อง ขยายเวลายื่นรายการการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตาม ป.รัษฎากรเพื่อให้โอกาสผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรที่ได้ยื่นรายการและชำระภาษีอากรไว้ไม่ครบถ้วนได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรให้ถูกต้องตามแบบชำระภาษีอากรที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และโจทก์ได้ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรดังกล่าวแล้ว คดีจึงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ยื่นแบบขอชำระภาษีอากรดังกล่าว ทำให้โจทก์ไม่ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มในคดีนี้ต่อจำเลยที่ 1 หรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะเป็นปัญหาที่ศาลภาษีอากรกลางมิได้ยกเป็นประเด็นขึ้นวินิจฉัยมาก่อนก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29
ตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายเวลายื่นรายการชำระภาษีอากรหรือนำส่งภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2534ข้อ 2 นั้น ผู้ยื่นขอชำระภาษีอากรตามประกาศกระทรวงการคลังจะได้รับผลประโยชน์โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มเฉพาะภาษีอากรส่วนที่ชำระหรือนำส่งนั้นเท่านั้นแต่ในกรณีของโจทก์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คงเรียกเก็บเงินเพิ่มสำหรับการประเมินภาษีในปี 2528 (ครึ่งปี) และปี 2529 (ครึ่งปี) และสำหรับปี 2529คงเรียกเก็บเบี้ยปรับร้อยละ 50 ส่วนเงินเพิ่มเป็นไปตามที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินเรียกเก็บ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่เรียกเก็บจากโจทก์จึงเป็นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากภาษีอากรที่โจทก์ยังคงยื่นเสียไว้ไม่ครบถ้วนจากการที่โจทก์ยื่นขอชำระภาษีไว้ดังกล่าวแล้วหาใช่เบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับภาษีอากรส่วนที่โจทก์ได้ชำระไว้ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวไม่
ตาม พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 มาตรา 8 (5)ประกอบด้วย พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 70) พ.ศ.2520 มาตรา 4 การประกอบกิจการของโจทก์ยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 70 แต่ถ้าโจทก์แสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นมีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดดังกล่าว ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ และตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (8) เงินได้พึงประเมินของโจทก์เป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจของโจทก์ทั้งหมดก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมาย เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายแล้วจึงเป็นเงินได้สุทธิที่จะนำไปคำนวณเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 48 ดังนั้น การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีนี้ต้องเริ่มมาจากเงินได้จากการประกอบธุรกิจของโจทก์ทั้งหมดก่อน แล้วจึงนำค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามกฎหมายมาหักออก มิใช่คำนวณมาจากกำไรสุทธิ สำหรับค่าใช้จ่ายนั้นเมื่อโจทก์ไม่นำค่าใช้จ่ายเหมาจ่ายที่กฎหมายกำหนดไว้มาหัก แต่จะหักตามความจำเป็นและสมควร โจทก์ก็มีหน้าที่จะต้องนำหลักฐานมาพิสูจน์ การที่โจทก์นำสืบอ้างว่าโจทก์มีกำไรจากการประกอบกิจการร้อยละ 10 นั้นไม่เพียงพอจะถือว่ากำไรร้อยละ 10 ของโจทก์นั้นเป็นเงินได้สุทธิที่จะนำมาคำนวณเสียภาษี เมื่อโจทก์ไม่นำหลักฐานมาพิสูจน์ให้เห็นว่ารายได้ทั้งหมดของโจทก์จะต้องมีรายจ่ายที่จะหักได้ตามกฎหมายเป็นอะไรบ้าง จำนวนเท่าใด โจทก์ต้องการให้หักค่าใช้จ่ายอีกเท่าใด การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาหักค่าใช้จ่ายให้เท่าที่ตรวจพบจึงเป็นการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ชอบแล้ว