คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1439/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อ 2 แห่งสัญญาเช่ามีข้อกำหนดไว้ด้วยว่า หากจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประการใด จะต้องปรากฏลายมือชื่อคู่สัญญาลงกำกับไว้เป็นสำคัญ เมื่อข้อตกลงเพิ่มเติมท้ายสัญญาเช่าพิมพ์ไว้ต่างหากด้านข้างของกระดาษแบบฟอร์ม และมีแต่ลายมือชื่อของจำเลยผู้เช่ากับลายมือชื่อของพยานใต้ข้อความนั้น หาได้มีลายมือชื่อคู่สัญญาฝ่ายโจทก์ผู้ให้เช่าลงกำกับไว้ด้วยไม่ ข้อตกลงเพิ่มเติมดังกล่าวถือไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์จัดหาสถานที่ใหม่เนื้อที่ไม่น้อยกว่า1072 ตารางเมตร และจัดการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างให้ด้วยหากโจทก์ไม่สามารถกระทำได้ ให้โจทก์ใช้เงินค่ารื้อย้าย 1,635,000 บาท แก่จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 344 และสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินโจทก์ กับให้ชำระค่าเช่าที่ค้าง 7,968 บาท และค่าเสียหายเดือนละ5,000 บาท ให้ยกฟ้องแย้ง จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินโจทก์มีกำหนด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2503 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม2503 ค่าเช่าปีละ 536 บาท ดังเอกสารสัญญาเช่าหมาย จ.1 (ลง1) เมื่อสิ้นกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาแล้ว จำเลยยังคงเป็นผู้เช่าโดยไม่มีกำหนดเวลาสืบมา ต่อมาโจทก์บอกเลิกการเช่าแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมออกจากที่เช่า และยังค้างชำระค่าเช่าโจทก์อยู่เป็นเงิน 6,968 บาท สำหรับข้อวินิจฉัยของศาลล่างที่ว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม และโจทก์บอกเลิกการเช่าโดยชอบแล้วนั้น จำเลยมิได้โต้แย้งในชั้นฎีกา จึงเป็นยุติ

ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อตกลงเพิ่มเติมท้ายสัญญาเช่าที่ว่า “หากผู้ให้เช่าประสงค์จะปรับปรุงสถานที่เช่า ผู้ให้เช่าจะร้องหาที่ให้ใหม่ และจัดการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างให้ด้วย” มีผลผูกพันโจทก์นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า สัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยทำขึ้นตามแบบฟอร์มที่โจทก์กำหนดขึ้น ซึ่งมีเงื่อนไขหลายประการ เฉพาะข้อ 2 แห่งสัญญาเช่ามีข้อกำหนดไว้ด้วยว่า หากจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมประการใดจะต้องปรากฏลายมือชื่อคู่สัญญาลงกำกับไว้เป็นสำคัญ แต่ข้อตกลงเพิ่มเติมท้ายสัญญาเช่าที่จำเลยอ้างดังกล่าวพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมไว้ต่างหากด้านข้างของกระดาษแบบฟอร์ม และมีแต่ลายมือชื่อของจำเลยผู้เช่ากับลายมือชื่อของพยานใต้ข้อความนั้น หาได้มีลายมือชื่อคู่สัญญาฝ่ายโจทก์ลงกำกับไว้ด้วยไม่ดังนั้น ข้อตกลงเพิ่มเติมดังกล่าวจึงผิดจากข้อกำหนดในสัญญาข้อ 2 ดังกล่าวข้างต้นถือไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์”

พิพากษาแก้เฉพาะเรื่องค่าเสียหายเป็นว่า ให้จำเลยชดใช้เดือนละ 2,000 บาท

Share